เคาะปรองดองจบมิ.ย. ป.ย.ป.เล็งแถลงสาธารณชน-‘สุวิทย์’ถกเครือข่ายธุรกิจ

23 มี.ค. 2560 | 00:00 น.
ป.ย.ป.เร่งเครื่องปฏิรูปประเทศ-ปรองดอง เคาะร่างสัญญาประชาคมปรองดอง มิ.ย.นี้ ก่อนจัดแถลงต่อสาธารณชน ด้าน 4 อนุกรรมการฯ เร่งฟังความเห็นภาคประชาสังคมเสร็จเม.ย.

ผ่านการขับเคลื่อนมากว่าครึ่งทางสำหรับกระบวนการปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองของรัฐบาล โดยล่าสุดการประชุมคณะกรรมการกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฎิรูป ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ เมษิณทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป. เตรียมหารือกับตัวแทนกลุ่มเครือข่ายธุรกิจบิสคลับ ซึ่งเป็นทายาทนักธุรกิจ ประมาณ 8,000 คน เพื่อช่วยกันวางแผนขับเคลื่อนและวางแผนอนาคตประเทศ

ขณะที่คณะอนุกรรมการสร้างความปรองดองทั้ง 4 ชุด เร่งขับเคลื่อนภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการบูรณาการ ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ ซึ่งมี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัต ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นประธานชุดที่ 2 และคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอแนะกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานชุดที่ 3 กำลังดำเนินการรูปแบบสัญญาประชาคม มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2560 จากนั้นจะเน้นการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้ทราบต่อไป

ด้านพล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ ระบุว่า การรับฟังความเห็นในระดับพื้นที่ที่มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กอ.รมน.ภาค เป็นเจ้าภาพ จะครบทั้ง 76 จังหวัดในวันที่ 23 มีนาคมนี้ ส่วนการรับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองและองค์กรภาคประชาคม ซึ่งเป็นภารกิจของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มีพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน จะเสร็จสิ้นในวันที่ 5 เมษายน หลังจากได้รับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคมนัดสุดท้ายในวันที่ 24 มีนาคมนี้

จากนั้นจะนำข้อมูลจากการรับฟังความเห็นทั้งจากส่วนกลางและระดับพื้นที่มาสรุปและจัดทำความเห็นอีกครั้ง ก่อนที่วันที่ 19 เมษายน จะมีการประชุมกลุ่มย่อยของส่วนกลาง และวันที่ 30-20 เมษายน เป็นการกระชุมทุกภาคส่วนในระดับพื้นที่ 4 ครั้ง กองทัพภาคละ 1ครั้ง

“ขณะนี้อยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองต่างๆและภาคประชาคม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีหนังสือเชิญพรรคการเมืองทั้งหมด 70 พรรคการเมือง กับ 2 กลุ่มการเมืองและอีก 60 องค์กรภาคประชาชนโดยมีพรรคการเมืองมาให้ข้อคิดเห็นแล้ว 53 พรรค และ 2 กลุ่มการเมือง และมี 13 พรรคติดต่อไม่ได้ โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประสานให้ นอกจากนี้มี 4 พรรคยังไม่พร้อม และมี 7 พรรคการเมืองส่งเอกสารกลับมา

สำหรับร่างสัญญาประชาคมนี้มาจากการจัดทำข้อพิจารณาข้อคิดเห็นร่วม และออกเผยแพร่เวทีสาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งสุดท้าย เพื่อปรับปรุงเป็นร่างสัญญาประชาคมที่มองถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อกำหนดอนาคตการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและขับเคลื่อนพัฒนาประเทศต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระบวนการจัดทำร่างสัญญาประชาคมปรองดอง หลังจากคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอแนะกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองชุดของ พล.อ.ชัยชาญ (อนุกรรมการฯ ชุดที่ 1 ) รับฟังความเห็นแล้ว ก็จะส่งข้อเท็จจริงจากการพูดคุยไปให้คณะอนุกรรมการบูรณาการ ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ (อนุกรรมการฯ ชุดที่ 2) ที่ พล.อ.สุรพงษ์ เป็นประธาน เพื่อสรุปความเห็นร่วม ที่ได้มาจากการรวบรวมข้อเสนอแนะทั้งหมด และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อเตรียมการปฏิรูป

จากนั้น อนุกรรมการฯ ชุดที่ 2 จะส่งร่างเอกสารความเห็นร่วม ไปให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ชุดของ พล.อ.เฉลิมชัย เพื่อจัดทำร่างสัญญาประชาคม เมื่อได้ร่างสัญญาประชาคมสมบูรณ์แล้วจะเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานป.ย.ป. ต่อไป

ส่วนขั้นตอนสุดท้ายหลังนายกรัฐมนตรีอนุมัติร่างสัญญาประชาคมแล้ว คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ ที่มี พล.ต.คงชีพ เป็นประธาน จะจัดงานแถลงสัญญาประชาคมปรองดอง ต่อสาธารณชนต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเป็นไปตามแผนปรองดองของรัฐบาลที่จะให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560