รัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้า932MW ลุยลงทุนพลังงานทดแทน7 โครงการ6.5หมื่นล.

23 มี.ค. 2560 | 06:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กระทรวงพลังงาน เล็งเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนปีนี้อีก 932 เมกะวัตต์ ใน 7 โครงการ คาดมีเม็ดเงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 6.5 หมื่นล้านบาท เน้นเอสพีพีไฮบริด ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเป็นหลัก พร้อมไล่บี้โครงการที่ยังจ่ายไฟฟ้าในปีที่ผ่านมาไม่ได้อีกกว่า 1,000 เมกะวัตต์

กำลังจะมีข่าวดีสำหรับนักลงทุน เมื่อกระทรวงพลังงานมีแผนที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนภายในปีนี้อีก 932 เมกะวัตต์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนให้ได้ 1.6 หมื่นเมกะวัตต์ ตามเป้าหมายที่วางไว้ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี จากปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าสะสมแล้วที่ราว 9,814 เมกะวัตต์

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้พพ.อยู่ระหว่างการหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเปิดรับซื้อไฟฟ้าใน 7 โครงการ รวมกำลังการผลิต 932 เมกะวัตต์ ให้เร็วที่สุด เป็นการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท

โดยไม่รวมการดำเนินงานช่วงแรกนี้จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประชารัฐ ขนาด 3 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการพิเศษ ที่จะเริ่มดำเนินการก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าควรจะเป็นเท่าใด เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินสู่ท้องถิ่นในอัตรา 10 % ของผลกำไรสุทธิด้วย

ส่วนทั้ง 7 โครงการที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้านั้น ประกอบด้วย โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กหรือเอสพีพีไฮบริด เฟิร์ม ขนาด 300 เมกะวัตต์ โดยเน้นให้ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก บวกกับเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ และบังคับให้มีการปลูกพืชพลังงานควบคู่ด้วย ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าจะใช้กลไกการเปิดประมูลไม่ให้อัตราฟิทอินทรารีฟหรือเอฟไอไอทีเกินกว่า 3.66 บาทต่อหน่วย โดยกำหนดเงื่อนไขให้สำหรับรายใหม่เท่านั้น และขายเข้าระบบขนาดมากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในปี 2563

โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากหรือวีเอสพีพีในรูปแบบเซมิ เฟิร์ม จากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพืชพลังงาน รวม 289 เมกะวัตต์ มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าในปี 2562 อีกทั้งเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ 100 เมกะวัตต์ จากส่วนสหกรณ์การเกษตรอีก 119 เมกะวัตต์ และเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 80 เมกะวัตต์

รวมทั้ง การเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนทางภาคใต้ ได้แก่ การเปิดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบการประมูลหรือ FiT Bidding ขนาด 12 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ก๊าซชีวภาพ 8 เมกะวัตต์ และขยะชุมชน 4 เมกะวัตต์ รวมถึงเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประชารัฐระยะที่ 1 ขนาด 18 เมกะวัตต์ โดยให้ใช้เชื้อเพลิงจากชีวมวลเป็นหลัก และโครงการโรงไฟฟ้าประชารัฐระยะที่ 2 อีก 35 เมกะวัตต์ โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกพืชพลังงานมาเป็นวัตถุดิบ

นายประพนธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการส่งเสริมพลังงานทดแทนในช่วงปีที่ผ่านมานั้น พบว่าขณะนี้มีโครงการต่างๆ ที่ยังไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทนภายในปี 2559 คิดเป็นประมาณ 1,024 เมกะวัตต์ ซึ่งพพ.จะต้องเข้าไปเร่งให้ผู้ประกอบการดำเนินงานให้ได้ แบ่งเป็นจากขยะชุมชน 39.24 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ จากน้ำเสียและของเสีย 36.78 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าชีวมวล 322.92 เมกะวัตต์ โซลาร์ฟาร์ม 69.15 เมกะวัตต์ และจากพลังงานลม 556.65 เมกะวัตต์ ขณะที่ปี 2560 นี้ จะมีโครงการจากพลังงานทดแทนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบอีก 340.4 เมกะวัตต์ แยกเป็น จากขยะชุมชน 40.7 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ จากน้ำเสียและของเสีย 26.22 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 163.98 เมกะวัตต์ พลังงานแสดงอาทิตย์ 5 เมกะวัตต์ และพลังงานลม 94.5 เมกะวัตต์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560