หนุนรีดภาษีเว็บยักษ์ออนไลน์ต่างชาติ

24 มีนาคม 2560
tp6-3246-b กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรกำลังศึกษาโครงสร้างภาษีรูปแบบใหม่ เพื่อหาทางจัดเก็บรายได้จากกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ ที่มีฐานผู้เสียภาษีจำนวนมากในปัจจุบันที่ขายสินค้าออนไลน์

มีเสียงสะท้อนจากสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ที่เชื่อว่ามาตการภาษีนี้มีผลกระทบอย่างมากกับการทำธุรกิจออนไลน์

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ตลาดดอทคอม ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสปริงนิวส์ว่า เห็นด้วยกับการเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง คนที่มีรายได้ในประเทศไทยต้องเก็บภาษี แต่การที่จะเสียภาษีจากการกวดขันคนทำธุรกิจออนไลน์จะมีความละเอียดอ่อน ขณะที่ประเทศไทยกำลังกระตุ้นให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 ให้คนมาขายของออนไลน์ ทำธุรกิจออนไลน์ แต่กลับมีนโยบายทำให้คนเกรงกลัว จะทำให้หน้าใหม่ที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจไม่เข้าใจแล้วจะหนีหรือลังเลที่จะทำ หรืออีกกลุ่มที่กำลังทำอยู่แล้ว เห็นว่ารัฐกำลังเข้ามาอย่างรุนแรง อาจจะย้ายตัวเองจากการทำค้าในประเทศไทยไปเปิดที่ต่างประเทศดีกว่า ทำให้ประเทศเสียรายได้

นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ให้ข้อมูลว่า มูลค่าการซื้อขายออนไลน์ในประเทศไทยตอนนี้มีประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท มีทั้งกลุ่มที่พร้อมเสียภาษี คือที่จดทะเบียนบริษัท/เอสเอ็มอี จำนวน 2-3 ล้านราย ทำการค้าออนไลน์ประมาณ 5 แสนราย แบ่งเป็นธุรกิจนิติบุคคลกับคนธรรมดา แต่คิดว่าคนที่ไม่มีความรู้คือคนธรรมดามากกว่า เช่น พนักงานบริษัท แม่บ้าน มีรายได้บางส่วน แต่อาจจะไม่มีรายได้จากการขายของออนไลน์มากมาย เพราะการต้องขายเกิน 18 ล้านบาทถึงจะเข้าสู่ระบบภาษี แต่มีบางกลุ่มที่กำลังเติบโต ที่มียอดขายหลักล้านบาทหรือหลายล้าน ที่ยังไม่มีความเข้าใจทางด้านภาษี คิดว่าซื้อมาขายไปไม่ต้องเสียภาษี ที่ยังไม่มีการเข้าระบบและเป็นนิติบุคคล คิดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกเก็บภาษีโดยที่ตัวเองไม่รู้

“รัฐน่าจะมีนโยบายในเชิงบวกในการเชิญคนเหล่านี้มาเสียภาษีให้ถูกต้อง มีหลายกลยุทธ์ที่มากกว่าการไล่ตามจับตามปรับ บางกลยุทธ์รัฐทำอยู่แล้ว เช่น การกระตุ้นให้ซื้อสินค้าออนไลน์เหมือนกับการช็อปช่วยชาติ ถ้าซื่อสินค้าออนไลน์สามารถนำใบตัวเลขใบกำกับภาษีมาลดหย่อนภาษีได้ หรืออาจจะมีมาตรการภาษีไปช่วยผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ จากผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบจะสนใจอยากเข้าระบบ เพราะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งดีกว่ามาตรการที่จะไปตามจับ ไปแอบส่อง ไปล่อซื้อ ฟังดูแล้วไม่ไปข้างหน้า”

สำหรับแนวโน้มที่จะเก็บเงินจากเว็บต่างชาติ อย่าง เฟซบุค อาลีบาบา จะทำได้หรือไม่ นายภาวุธ ระบุว่า เห็นด้วย และคิดว่าควรจะทำให้ได้ เพราะมีเม็ดเงินจำนวนมาก จะทำให้เม็ดเงินอยู่ในประเทศไทย เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่มาทำธุรกิจในไทย ไม่มีสำนักงานในประเทศไทย หรือจะมีพนักงานหรือออฟฟิศที่ตั้งในลักษณะออฟชอว์ ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ได้อะไรกับประเทศไทยเลย

“มีเม็ดเงินไหลออกจากประเทศส่วนนี้หลายหมื่นล้านบาท คิดว่ารัฐบาลไทยควรรีบหยุด หาวิธีการจัดการมันก่อน ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ของไทยเห็นจุดนี้มานานแล้ว ประมาณ 80% ของธุรกิจออนไลน์ มาจากการให้บริการจากต่างประเทศ การจับจ่าย ซื้อแอพพลิเคชั่น ซื้อสติ๊กเกอร์ ลงโฆษณา ซื้อหนังฟังเพลง มาจากต่างประเทศทั้งนั้น
ถ้าเราไม่มีมาตรการบอกได้เลยว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้า เม็ดเงินอีกมหาศาลจากคนไทยที่จะเข้าสู่ดิจิตัลจะไหลออกไปนอกประเทศแบบที่เราไม่คาดคิด”

“ตอนนี้ในอุตสาหกรรมฯ กังวลกับการเข้ามาของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซต่างชาติมากเกินไป ทั้งจากจีน เกาหลี อเมริกา กลายเป็นว่าข้อมูลการจับจ่ายของไทยจะไปอยู่ที่ต่างชาติทั้งหมด แล้วจะทำอย่างไร ซึ่งหากยังมองไม่ออกก็ให้ดูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่โรงแรมต่างๆ ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ให้บริการไม่กี่รายตอนนี้กลายเป็นว่าคนไทยจะจองอะไรในออนไลน์ ก็ใช้การจองโรงแรมผ่านบริการของต่างประเทศหมด แล้วผู้ให้บริการก็มากดโรงแรมขอให้ลดราคา เขาสามารถควบคุมดีมานด์ความต้องการของตลาดเขาได้แล้ว อันนี้น่ากลัวมาก”

เมื่อถามว่าจะเสนออะไรให้รัฐรับมือกับออนไลน์ที่มาจากต่างชาติ นายภาวุธ บอกว่า ดูแล้วนโยบายของรัฐจะเป็นการให้ความร่วมมือกับต่างประเทศเยอะมาก รัฐมนตรีก็ดูรักเหลือเกินกับอี-คอมเมิร์ซต่างประเทศ จะดึงเข้านู่นเข้ามานี่ แต่ก็ดีในแง่ของการนำสินค้าไทยไปขายต่างประเทศ แต่เขาคงไม่ได้มองแค่เอาสินค้าไทยไปขายต่างประเทศ เขาต้องเอาสินค้าเขามาขายในไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้นตรงนี้เป็นสิ่งที่พยายามสื่อสารไม่ถึงชั้นคนที่มีอำนาจตัดสินใจได้

“อยากให้รัฐหันมาสนใจอี-คอมเมิร์ซในไทยมากขึ้น เพราะตอนนี้กลายเป็นว่า ยักษ์ใหญ่เข้ามาทุบ เอาเงินมาเท มาทำการตลาดในประเทศต่อไปจะไม่มีผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในประเทศเลย เพราะว่าจะโดนต่างชาติคุมธุรกิจนี้หมด”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560