เร่งเครื่องอีอีซีดันรถอีวีนำร่อง

25 มี.ค. 2560 | 04:00 น.
รัฐบาลกำลังผลักดันการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีอย่างเต็มกำลัง โดย รอร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ประเมินกันว่าจะคลอดออกมาราวกลางปีนี้ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือกรศ. มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้เร่งขับเคลื่อนให้การดำเนินงานใน 4 กลุ่มหลัก 15 โครงการ บรรลุเป้าหมาย ภายใน 5 ปีนี้ ด้วยเงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท ”ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงแนวทางการเร่งรัดการขับเคลื่อนอีอีซีไว้อย่างน่าสนใจ

 ชง5เรื่องด่วนเสนอนายกฯ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 5 เมษายนนั้น จะรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้ที่ประชุมทราบ ใน 5 เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่จะต้องเสนอให้มีการจัดตั้งเป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ในพื้นที่ 6,500 ไร่ โดยการประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ เพื่อให้เกิดการลงทุนในรูปแบบต่างๆ และจะเริ่มก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และ ราวกลางปีนี้จะเริ่มลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานระหว่างบริษัทการบินไทย กับแอร์บัส

รวมทั้ง การเร่งรัดก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-ระยอง ที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนได้ปลายปีนี้ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยจะเร่งรัดกระบวนการลงทุนร่วมระหว่างรัฐและเอกชน(พีพีพี) เพื่อรองรับการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านคัน และให้เกิดการเชื่อมโยงการขนส่งด้วยโครงการรถไฟไทย-จีน
อีกทั้ง การพัฒนาเมืองใหม่ ที่ทางคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) อยู่ระหว่างศึกษากำลังศึกษา เมืองใหม่ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา-สัตหีบ และระยอง

 ดันรถยนต์อีวีนำร่องลงทุน
ขณะที่การเร่งรัดลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเน้นให้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ จะมีการพิจารณาเห็นชอบสิทธิประโยชน์ การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งจะมีมาตรการส่งเสริมของกระทรวงการคลัง ที่จะมาสนับสนุนอีกมาตรการหนึ่ง โดยจะมีการนำแพ็คเกจการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 28 มีนาคมนี้

ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว จะมีหลายรูปแบบ เพราะต้องเข้าใจว่า ผู้ผลิตรถยนต์อาจจะยังไม่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ทันที่ แต่อาจจะเป็นการต่อยอดจากสายการผลิตเดิมขึ้นไป ที่อาจจะเริ่มต้นด้วยปลั๊กอิน ไฮบริดก่อน และค่อยพัฒนาไปสู่อีวี ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับแต่ละประเภทหรือเทคโนโลยี ก็จะแตกต่างกัน ค่ายรถยนต์สามารถเลือกเมนูในการผลิตได้ ซึ่งถือเป็นการสร้างอุปทานให้เกิดขึ้น

ขณะที่กระทรวงการคลัง ก็มีมาตรการด้านอุปสงค์ ที่จะให้เกิดความต้องการหรือการสร้างตลาด จะมีมาตรการทางภาษีในการจูงใจขึ้นมา หรือการสร้างเงื่อนไขต่างๆ ให้เกิดการใช้รถยนต์อีวี เช่น การนำนำไปใช้ในหน่วยงานราชการ หรือการประกาศเป็นพื้นที่สำหรับรถยนต์อีวี เป็นต้น

ดังนั้น จากมาตรการส่งเสริมดังกล่าว เชื่อว่าทุกค่ายที่ผลิตรถยนต์ จะมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์อีวี เนื่องจากทิศทางของโลกกำลังเดินไปตามแนวทางนี้ และจะเห็นการลงทุนได้จริงในช่วงปลายปีนี้

 เร่งแก้ไขอุปสรรคลงทุน
สำหรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆนั้น ขณะนี้ก็มีผู้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีฐานผลิตอยู่ในอีอีซีอยู่แล้ว ก็พร้อมที่จะลงทุนต่อยอด นำไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ที่นำไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมี เช่น การผลิตพลาสติกชีวภาพ เคมีภัณฑ์ อาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอาง เป็นต้น รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และหุ่นยนต์ ก็ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนค่อนข้างดี

ส่วนการแก้ไขอุปสรรคที่เป็นปัญหาต่อการลงทุน โดยเฉพาะการจัดทำผังเมือง ที่ขณะนี้ยังมีความล่าช้าเกิดขึ้นนั้น ได้มีการหารือกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปแล้ว ขอให้เร่งดำเนินการจัดทำออกมาโดยเร็ว และให้การจัดทำผังเมืองเดินคู่ขนานไปกับกรอบอีอีซีที่วางไว้ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับชุมชนในพื้นที่ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม และไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่

ดังนั้น จากการดำเนินงานต่างๆ ที่ทำมา มองว่าการขับเคลื่อนอีอีซีจะเป็นรูปธรรม หลังจากไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไป และจะเห็นภาพการลงทุนจริงได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560