นวัตกรรม DryDye สิ่งทอไม่ใช้น้ำ

25 มี.ค. 2560 | 11:00 น.
อุตสาหกรรมสิ่งทอ เรื่องการย้อมผ้าถือเป็นกรรมวิธีการผลิตที่ใช้น้ำเปลืองเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ เสื้อที-เชิ้ตตัวหนึ่ง ใช้น้ำมากถึง 25 ลิตร ในการย้อมผ้า แต่ปัจจุบัน สำหรับบริษัท ทองเสียง จำกัด ในเครือ เหย่กรุ๊ป (Yeh Group) ผู้ผลิตสิ่งทอป้อนให้กับเสื้อผ้าแบรนด์ชั้นนำของโลก ได้นำนวัตกรรมที่ได้ค้นคิดโดยร่วมกับ Dr.Geert Woerlee และนักธุรกิจจากประเทศฮอลแลนด์ ก่อตั้งบริษัท DyeCoo สร้างเครื่องย้อมไม่ใช้น้ำเครื่องแรก และเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ 6-7 ปีที่แล้ว นวัตกรรมผ้าที่ได้จากกระบวนการผลิตนี้ เรียกว่า DryDye

MP30-3246-3 "เดวิด เหย่" กรรมการผู้จัดการ Yeh Group บอกว่า การใส่ใจสิ่งแวดล้อม เสมือนเป็นดีเอ็นเอของ Yeh Group ที่ดำเนินการมาโดยไม่รู้ตัว มีการนำวัตถุดิบไปรีไซเคิล เลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ดีตั้งแต่เริ่มตั้งโรงงาน Yeh Group ตระหนักถึงปริมาณน้ำที่สูญเสียไปอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมย้อมผ้า จึงได้คิดค้นเทคโนโลยี DryDye ขึ้นมา เริ่มต้นเครื่องจักรที่นำมาใช้อาจจะมีประสิทธิภาพการทำงานไม่เต็ม 100% แต่ปัจจุบันหลังจากพัฒนาระบบการทำงานมาเรื่อยๆ ขณะนี้สามารถย้อมผ้าได้โดยไม่ต้องใช้น้ำเลย ทำให้ไม่เกิดการสูญเสียน้ำแม้แต่หยดเดียว โดยการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ (Critical Carbondioxide) เข้าไปแทนที่การนำสีไปจับกับโครงสร้างผ้า ระบบนี้ลดการใช้พลังงานลงได้ถึง 50% และใช้สารเคมีลดลง 50% เทียบกับการย้อมผ้าแบบดั้งเดิมในโรงงาน
ประโยชน์ของการย้อมโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์ คือ

1.ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ
2.ประหยัดเวลาการย้อมและช่วยเพิ่มปริมาณการดูดซึมสีย้อมบนวัสดุสิ่งทอ
3.ประหยัดพลังงาน (ลดขั้นตอนการทำผ้าให้แห้ง)
4. ไม่จำเป็นต้องเติมสารช่วยย้อมและสารช่วยกระจาย
5. ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และ 6.เป็นสารที่ไม่ติดไฟง่าย ราคาไม่แพง

MP30-3246-5 Yeh Group มีโรงงานในเมืองไทย ตั้งอยู่ที่ สมุทรสาคร มีเครื่องจักรทั้งหมด 7 ตัว ราคาเครื่องประมาณ 2.5 ล้านยูโร แต่ละตัวมีกำลังผลิตผ้าราว 1 ล้านหลาต่อปี ที่ผ่านมาต้องใช้น้ำวันละ 6 ล้านตัน Yeh Group ยังมีโรงงานในประเทศอื่นๆ อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเนเธอร์แลนด์ โรงงานทั้งหมดนี้มีเป้าหมายที่จะเลิกใช้เครื่องย้อมแบบเดิมที่ใช้น้ำภายในปี 2568

MP30-3246-4 กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนของ Yeh Group จะเน้นการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เน้นดีไซน์ใหม่ เนื้อผ้าทนทานและสีสดทนต่อการซักล้าง นอกจากรับผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ดัง บริษัทได้ขยายตลาดส่งออกผ้าภายใต้แบรนด์ DryDye ป้อนวัตถุดิบให้กับกลุ่มผู้รับจ้างผลิตหรือโออีเอ็มในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอในต่างประเทศอีกด้วย

นอกจากนวัตกรรม DryDye "เดวิด" บอกว่า เขาให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมาตลอด ใช้งบกับการสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ปีละไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้ได้กระบวนการผลิตที่ดีที่สุด ขณะนี้ นวัตกรรม DryDye กำลังพัฒนาต่อไป จาก DryDye 1.0 ไปเป็น DryDye 2.0 และ DryDye 3.0 และยังมีงานค้นคิดเกี่ยวกับอินดัสตรี 4.0 Robotics Automation สร้างเครื่องทำเสื้อโปโลที่ไม่ต้องใช้คน จากเดิมการทำเสื้อ 1 ตัวต้องใช้คนถึง 20 คน ซึ่งหากทุกอย่างสำเร็จ ก็จะช่วยลดแรงงานคน แล้วนำคนเหล่านั้นไปพัฒนางานส่วนอื่นๆ ที่ยังต้องใช้สมองคนในการทำงานต่อไป

MP30-3246-2 อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจคือ การลงทุนทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยในอังกฤษ 3D Fashion เป็น 3D Printing ที่สามารถพิมพ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากผงที่เป็นโพลีเมอร์ โดยไม่ต้องมาฉีดเป็นเส้นด้ายแล้วค่อยนำมาถักทอและนำไปย้อมสี สินค้าแรกๆ ที่มีแผนจะผลิต คือ ผ้าที่นำไปทำรองเท้าผ้าใบ ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นนวัตกรรมนี้เป็นรูปเป็นร่างในอีกประมาณ 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถลดขั้นตอนกระบวนการผลิต ลดการสูญเสียในขั้นตอนต่างๆ ลงได้ทั้งหมด

จากที่อาดิดาสเคยคำนวณออกมาว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอ ใช้น้ำมากถึง 2 เท่าตัวของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ปัญหาและความสูญเสียตรงนี้จะหมดไป หากนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ Yeh Group แต่ละตัว สำเร็จออกมาใช้งานได้จริง แถมยังสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้อย่างสบายๆ ตรงนี้คือ ทิศทางไทยแลนด์ 4.0 จริงๆ ที่รัฐบาลต้องการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560