‘ซีพี’รุกอุตฯหุ่นยนต์รับ4.0 ชง พีไอเอ็ม เปิดหลักสูตรป้อนบุคลากรรับดีมานด์พุ่ง

23 มี.ค. 2560 | 04:00 น.
“พีไอเอ็ม”ในเครือซีพี ผนึก บ.หุ่นยนต์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เปิดหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์ฯ เฉลี่ยเทอมละ 6 หมื่นบาท เร่งป้อนบุคลากรรับไทยแลนด์ 4.0 พร้อมชี้ดีมานด์หุ่นยนต์ปี 61 สูงกว่า 2 ล้านตัวทั่วโลก

ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีเอ็มไอเปิดเผยว่า ขณะนี้ พีเอ็มไอ ได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 โดยหลักสูตรคิดเทอมละ 6.2 หมื่นบาท เนื่องจากจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) โดยนวัตกรรมหุ่นยนต์ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีความเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าปีละ 10 – 15 % หรือมากถึง 2.327 ล้านตัวทั่วโลก และ 4.16 หมื่นตัวในประเทศไทยในอีก 2 ปีข้างหน้า ดังนั้นภาคการศึกษาต้องเน้นสร้างองค์ความรู้เพื่อสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้งานได้จริง

สำหรับหลักสูตรดังกล่าวมุ่งผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ผ่านกระบวนการศึกษาที่เน้นให้สัมผัสประสบการณ์การทำงานจริง (Work-based Education) ควบคู่ไปกับการได้รู้จักและมีเครือข่าย (Networking) กับบริษัทผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติชั้นนำทั่วโลก

ดร.ธันยวัต ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เหตุผลที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์เปิดหลักสูตรดังกล่าว เนื่องจากได้เห็นความ สำคัญของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่จะสามารถนำมาสร้างและต่อยอดการเรียนรู้ จึงได้เกิดเป็นหลักสูตรสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้น อีกทั้ง พีเอ็มไอเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนทุนในการก่อตั้งจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นให้ผู้ที่เข้าศึกษามองเห็นถึงการนำไปพัฒนาต่อยอดในการทำธุรกิจ โดยสาขาวิชาที่เรียนต้องสามารถนำไปเชื่อมโยงกับการทำธุรกิจได้

[caption id="attachment_135945" align="aligncenter" width="503"] YuMi หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะ ผู้ช่วยใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรม สาธิตการชงกาแฟ YuMi หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะ ผู้ช่วยใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรม สาธิตการชงกาแฟ[/caption]

“หลักสูตรอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้นเกิดขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วยอัตราการเกิดของประชากรที่ต่ำลง จากประเทศไทยเมื่อ 15 ปีก่อนมีประชากรจำนวน 60 ล้านคน ปัจจุบันประชากรมีจำนวนเพียงแค่ 65 ล้านคนแต่ผู้สูงอายุกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทางสถาบันจึงต้องการผลิตบุคลากรทางการศึกษาให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งนักศึกษาของสถาบันนั้น ในช่วงที่เรียนได้มีการทดลองปฏิบัติงานจริงไปพร้อมๆ กันและประสบกับปัญหาที่เกิดจากการทำงานจริง ทำให้เกิดความคิดที่จะสร้างสิ่งที่สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาหรือทำงานทดแทนได้ โดยหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้นจะศึกษาเกี่ยวกับด้านเครื่องกล คอมพิวเตอร์ และไฟฟ้าโดยนำทั้ง 3 องค์ประกอบนี้มาบูรณาการร่วมกันบนหลักของการจัดการเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับธุรกิจได้”

ดร.ธันยวัต กล่าวว่าในอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้าบุคลากรที่จากหลักสูตรนี้จะเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการซ่อมแซม ปรับปรุงการใช้งานหุ่นยนต์ ซึ่งการเตรียมพร้อมรับมือของคนไทยต่อกระแสหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาสู่ตลาดแรงงานนั้นสามารถมองได้ 2 ประเด็นคือ เข้ามาเพื่อช่วยเหลือ หรือเข้ามาแย่งงานมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้สูงว่าในอนาคตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้นจะเข้ามาแทนที่แรงงานคน และแนวทางที่จะทำให้แรงงานไทยสามารถอยู่ได้คือ การเปลี่ยนบทบาทเป็นแรงงานที่มีฝีมือเป็นที่ต้องการของตลาด หรือการให้ความสำคัญกับการศึกษาที่ทันตามกระแสของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงเป็น 4 แนวโน้มใหญ่ ที่ประเทศไทยต้องมีพื้นฐานและศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคตได้แก่เทคโนโลยีชีวภาพ (BIOTECH) ,หุ่นยนต์(ROBOTICS) ,เทคโนโลยีประยุกต์ ( NANOTECH)และดิจิตอล (DIGITAL) การลดความเหลื่อมล้ำทางด้านข้อมูล (Digital Divide) ในยุคบิ๊กดาต้าโดยการพัฒนาผ่าน กระบวนการผลิต (Production) ซึ่งเป็นการสร้างสินค้าขึ้นมาโดยอาศัยเทคโนโลยีในการผลิตการพัฒนาด้านการสื่อสาร (Communication) และ การพัฒนาด้านการขนส่ง (Logistics) ซึ่งทั้งหมดทุกขั้นตอนในการผลิตสินค้าและบริการจะต้องเชื่อมโยงผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลและมีการกระตุ้นเศรษฐกิจสตาร์ตอัพ เพื่อลด pain point (อาการปวดจุด)ของระบบเศรษฐกิจและเพิ่มประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจโดยปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจของตนเองให้เป็นในรูปแบบดิจิตอลและเชื่อมโยงตลาดและลูกค้าในแบบดิจิตอลเช่นเดียวกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560