กสทช.เปิดทางส่งข้อมูลสตง. ตรวจสอบเงินรายได้แผ่นดินคลื่น1800

23 มี.ค. 2560 | 09:00 น.
เป็นปัญหากันมานาน ในเรื่องการพิจารณาตรวจสอบเงินนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (ช่วงเยียวยา) หลังจากมีการนำเสนอผลการตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน ที่ศึกษาโดยคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้ (ยังไม่หักค่าใช้จ่ายโครงข่ายที่ต้องชำระให้แก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคทที่บริษัท ทรูมูฟเอช จำกัด ในเครือบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด หรือดีพีซี ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส) ต้องนำส่งรายได้ทั้งหมดตลอดช่วงประกาศมาตรการเยียวยา ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2556

 สตงตั้งก.ก.เคาะคลื่น 1800

ล่าสุดในที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการช่วยเหลือในการส่งข้อมูลให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ในการช่วยตรวจสอบจำนวนเงินที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในช่วงที่มีการให้บริการอย่างต่อเนื่องตามมาตรการเยียวยา ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ของ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่ เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา สตง. ทำหนังสือมาเร่งรัดให้บอร์ด กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ดำเนินงานภายหลังการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ภายหลังดำเนินงานล่าช้ามากว่า 3 ปี แต่ บอร์ด กทค ได้ตอบกลับ สตง. ไปว่า ไม่สามารถเร่งรัดการพิจารณาให้แล้วเสร็จในเร็ววันได้ ทาง สตง. จึงแจ้ง กทค. กลับมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมาว่า จะขอตั้งคณะทำงานโดยเฉพาะขึ้นมา พิจารณาในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ กสทช. นำส่งข้อมูลต่างๆให้ สตง.

 “ฐากร”ชี้เป็นมิติใหม่

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุว่า การที่ สตง. เข้ามาตั้งทีมตรวจสอบในครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ในการทำงาน ซึ่งบอร์ดกทค.ทุกคนก็ดีใจที่ สตง. เข้ามาช่วยตรวจสอบในครั้งนี้ เพราะเดิมที่ล่าช้าก็เพราะบอร์ดเองไม่กล้าลงมติรับรองตัวเลขที่จะให้ทางผู้ประกอบการจ่าย เนื่องจากกลัวลงมติไปแล้วจะโดนฟ้องกลับมา

เช่นเดียวกับ จำนวนเงินที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินในการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ในช่วงที่มีการให้บริการอย่างต่อเนื่องตามมาตรการเยียวยา ภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส ทางบอร์ด กทค. ได้มีมติให้ เอไอเอส นำส่งรายละเอียดกลับมายังบอร์ด กทค. ใหม่อีกครั้ง ภายหลังบอร์ด กทค. มีมติไม่รับคำอุทธรณ์ของ เอไอเอส ทั้งนี้คาดจำนวนเงินที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจากการใช้งานคลื่นความถี่ตามมาตรการเยียวยา บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ จะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน

ทั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ สตง.เข้ามาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เนื่องจาก สตง .ถือเป็นหน่วยงานตรวจสอบของรัฐที่ได้รับการยอมรับจากทั้งราชการและเอกชน ซึ่งวิธีการนี้ ถือเป็นแนวทางใหม่ในการตรวจสอบเพื่อพิจารณาหารายได้ที่แท้จริงเข้ารัฐ เพื่อจะนำรายได้ดังกล่าวนำมาใช้ในแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ซึ่งคาดว่า เมื่อสตง. ได้ข้อยุติแล้ว ทุกฝ่ายจะต้องยอมรับในการทำงานของสตง.ต่อไป

อนุมัติคลื่น 2300 ให้ ทีโอที

นอกจากนี้ บอร์ด กทค. ยังมีมติอนุมัติการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ตามที่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ร้องขอ แต่ทางทีโอทีต้องนำส่งแผนทางธุรกิจให้ คณะทำงาน ที่มีนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาว่าการดำเนินงานของทีโอทีขัดต่อหลักเกณฑ์ กสทช. หรือไม่ และบอร์ด กทค. ยังได้อนุมัติการยกเลิกสถานะผู้มีอำนาจเหนือตลาดให้แก่ บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต จำกัด เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาด เนื่องจากในปัจจุบัน ทรู ออนไลน์ มีส่วนแบ่งการตลาดในระดับใกล้เคียงกับทางธุรกิจ ซึ่งการยกเลิกสถานะดังกล่าว จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560