ว่าด้วยการประชุม จี 20

24 มี.ค. 2560 | 00:00 น.
เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาทันที สำหรับการประชุมรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศจี 20 หรือประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่เมืองบาเดน บาเดน ในเยอรมนี ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ในแถลงการณ์ร่วมของกลุ่ม หรือ Joint Communique นั้น ไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนว่าทางกลุ่มสนับสนุนการค้าเสรี และต่อต้านการปกป้องตัวเองทางการค้า

ซึ่งถือว่าเป็นความต่างจากการประชุมหนก่อนที่จีนอย่างมาก โดยเชื่อว่า ที่เนื้อหาในแถลงการณ์ขนาดคำว่าสนับสนุนการค้าเสรีไปนั้นเป็นเพราะว่า กลุ่มจี20 กำลังโอนอ่อนผ่อนตาม หรือยอมสหรัฐมากขึ้น เพราะดูเหมือนว่าสหรัฐฯกำลังใช้นโยบายทางการค้าในแนวทางปกป้องตัวเอง หรือ Protectionism มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

คำว่า "การค้าเสรี" นั้นถือว่าเป็นคำภีร์ไบเบิลของการค้าโลกในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นที่ประชุมการค้าใดๆ มักจะมีการให้คำมั่นถึงการสนับสนุนการค้าเสรีอยู่เสมอๆ แต่ทว่าสำหรับการประชุมจี 20 ในหนนี้ กลับไม่มีการระบุถึงการสนับสนุนการค้าเสรี จึงเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายทีเดียวครับ และน่าสงสัยว่า ในที่สุดแล้ว จี20 ก็จะไปเดินตามสหรัฐฯหรือไม่ ในเรื่องการค้าโลก

ต้องเกริ่นกันถึงบทบาทของจี 20 กันก่อนครับ กลุ่มจี 20 ได้รับการสถาปนาให้ขึ้นมามีบทบาทในเวทีเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นจริงเป็นจังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก อันมีต้นตอมาจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ ช่วงปลายปี 2008 นี้เอง

ในครั้งนี้ กระแสโลกมองว่า ต้นตอที่ทำให้ทั่วโลกต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงก็เป็นเพราะ การแสวงหาผลประโยชน์ที่มากเกินไปของนักลงทุนในโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จนทำให้เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นก่อนที่จะลุกลามไปทั่วโลกครับ

[caption id="attachment_135929" align="aligncenter" width="503"] สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ[/caption]

ดังนั้น กลุ่มจี 20 จึงได้รับการยกย่องสถานะให้มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งก็คือการเปิดให้บรรดาประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนในการจัดการกับเศรษฐกิจโลกด้วย พูดง่ายๆก็คือ นำประเทศกำลังพัฒนาที่มีจีดีพีขนาดใหญ่มาร่วมถ่วงดุลย์ และแก้ปัญหากับกลุ่มประเทศมหาอำนาจร่ำรวยเดิม

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในจี20 สำคัญๆ ก็มีจีน บราซิล เป็นต้น ในอาเซียน ก็มีอินโดนีเซียครับ เพราะเป็นประเทศที่มีขนาดจีดีพีใหญ่ที่สุดของอาเซียน (ไทยเป็นเบอร์ 2)

นับตั้งแต่นั้น การประชุมของกลุ่มจี-20 ก็ได้รับความสำคัญขึ้นมาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการประชุมของกลุ่มประเทศจี 7 หรือชาติร่ำรวยเดิม 7 ประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งถูกจับตามองอย่างมากในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลก

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ทรัมป์ ก้าวขึ้นมาสู่การเป็นผู้นำสหรัฐฯ พร้อมๆกับแนวทาง และนโยบายการค้าที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ กับนโยบายการปกป้องตัวเอง หรือ Protectionism นั้น ก็กำลังทำให้กลุ่มความร่วมมือต่างๆของโลก เกิดการเผชิญหน้า และการปะทะกับสหรัฐฯทั้งโดยตรงและทางอ้อม

ก่อนหน้านี้ ในเวทีการประชุมเศรษฐกิจเวทีใหญ่ของโลกอย่าง "เวิลด์ อีโคโนมิกฟอรัม" นั้นก็มีการประกาศลั่นว่าจะต่อต้านการปกป้องตัวเองทางการค้า ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงจุดยืนต่อต้านสหรัฐภายใต้การบริหารงานของนายทรัมป์ โดยตรง
แต่สำหรับการประชุมรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการแบงก์ชาติของจี 20 ในครั้งนี้ กลับไม่มีการระบุชัดในแถลงการณ์ร่วม ถังการสนับสนุนการค้าเสรี และการต่อต้านการปกป้องตัวทางการค้า จึงทำให้จี20 ถูกวิจารณ์อย่างหนักเช่นกัน ว่าในที่สุดแล้ว จี20 ก็กำลังสูญเสียความเป็นตัวเองไปหรือไม่ และในที่สุดจี 20 ก็ต้องเดินตามก้นสหรัฐตามเดิมหรือไม่

เป็นคำถามที่จี-20 โดยเฉพาะบรรดาประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในจี 20 ต้องถามตัวเองแล้วล่ะครับว่า ถ้า จี 20 ยังเดินตามก้นสหรัฐต่อไป แล้วจะมีจี 20 ไว้เพื่ออะไรกันแน่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560