วิบากกรรม‘4อดีตรมต.’ถูกตรวจสอบ‘ปมเสียภาษี’

24 มี.ค. 2560 | 08:00 น.
ร้อนๆหนาวๆไปตามๆกันเมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่ามี 113 รายชื่อนักการเมืองก่อนจะมีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมคัดให้เหลือ 60 รายที่อยู่ในข่ายถูกตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้ซึ่งมีทั้งในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร โดยระบุว่า ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นนั้นมีตั้งแต่หลัก 100 ล้านถึงหลัก 1,000 ล้านบาท กรณีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อให้ “กรมสรรพากร” เรียกเก็บภาษีจากทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา 39 ที่ต้องเสียภาษี

โดยเมื่อ สตง.ตรวจแบบ ภ.ง.ด.แล้ว เห็นว่า นักการเมืองส่วนใหญ่จะแจ้งรายการเสียภาษีเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น ไม่ได้นำทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาเสียภาษีจึงเป็นการเสียภาษีที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน และถือเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

ขณะนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง.ออกมาย้ำว่า การให้กรมสรรพากรเรียกเก็บเงินภาษีจากนักการเมือง 60 รายในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น เป็นการดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)ไม่ใช่เรื่องเจาะจงหรือเป็นคำสั่งจากรัฐบาล แต่จำเป็นต้องตรวจสอบเพื่อให้เกิดความถูกต้องในการจัดเก็บภาษี โดยยืนยันว่า การดำเนินการของสตง.ไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการจัดเก็บภาษีในด้านอื่นๆ ทั้งผู้มีรายได้ที่มีรถหรู และเงินสินสอดมหาศาล พร้อมขอให้บุคคลใดที่รู้ตัวว่าลืมเสียภาษีหรือเรียกประเมินไม่ถูกต้องให้เร่งรัดดำเนินการจ่ายภาษีคืนรัฐ เพื่อไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินในภายหลังส่วนการที่ไม่ตรวจสอบรัฐบาลในปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่พ้นตำแหน่ง เพราะหากตรวจสอบไปก็จะได้เพียงรายการก่อนเข้ารับตำแหน่งตำเท่านั้น

ขณะที่“สำนักข่าวอิศรา” ก็ได้รายงานความคืบหน้าล่าสุดในเรื่องเดียวกันว่า สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า จากการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 60 รายนั้น พบว่า มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่ยื่นสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 4 ราย ที่ต้องขอให้กรมสรรพากรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ประกอบด้วย

1.นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ไม่แนบสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2554 โดยให้เหตุผลว่า มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี

2.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ไม่แนบสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรดมปี 2553 แจ้งว่าไม่มีรายได้

3.นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ไม่แนบสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2553 โดยแจ้งว่า รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี

และ4.นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ไม่แนบสำเนาแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2550 แจ้งว่า รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี

ส่วนกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 60 รายที่กรมสรรพากรแจ้งมานั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินเสร็จแล้วจำนวน 34 ราย และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวมีทรัพย์สินและหนี้สินถูกต้องและอยู่จริงตามที่แสดง และจากการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินไม่พบว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก 26 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สิน

นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ชี้ว่า รู้สึกแปลกใจกับข่าวนี้ และพร้อมยินดีให้ตรวจสอบย้อนหลังเต็มที่ ขอให้ทำอย่างตรงไปตรงมา เพราะมั่นใจว่าได้ยื่นเสียภาษีต่อกรมสรรพากรถูกต้องมาโดยตลอด ขณะที่การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหลังพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี สมัยเป็นส.ส. เมื่อปี 2548-2549 ต่อป.ป.ช. ก็ได้ยื่นครบถ้วน

“ผมเป็นนักการเมืองเต็มตัว ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่น ทำให้ไม่แนบสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2550เพราะเป็นช่วงหลังปฏิวัติรัฐประหารปี 2549 ตอนนั้นตกงานอยู่ไม่มีรายได้อะไร เมื่อไม่มีรายได้ก็ไม่ได้ยื่นเสียภาษี ซึ่งเป็นเรื่องปกติและได้ชี้แจงต่อกรมสรรพากรไปนานแล้ว จึงมั่นใจว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่หากมีการตรวจสอบและพบว่าเกิดข้อผิดพลาดแล้วต้องเสียภาษีย้อนหลังก็ยินดีจ่ายเงินและค่าปรับตามที่เรียกเก็บ”

เรื่องนี้น่าสนใจว่า หลังจากนี้กรมสรรพากรจะรับลูกจากป.ป.ช.และสตง.เพื่อตรวจสอบการเสียภาษีรายได้ของนักการเมืองเหล่านี้หรือไม่…

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560