ไอเดียเจ๋ง!อิฐบล็อกเศษแก้ว ฝีมือเด็กสุราษฎร์สร้างรายได้-ลุยขยายโรงงาน

25 มี.ค. 2560 | 07:00 น.
นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีโชว์นวัตกรรมอิฐบล็อกประสานจากเศษแก้วสร้างรายได้เข้าชุมชนบ้านท่าใหม่กว่า 1 ล้านบาท ลุยขยายโรงงานเข้าตัวจังหวัด

นายชาญชัย แฮวอู ครูชำนาญการพิเศษ ที่ปรึกษาโครงการอิฐบล็อกประสานใช้ขวดแก้วแทนทราย และเครื่องรีไซเคิลขยะจากขวดแก้ว วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านนวัตกรรมผ่านเครื่องบดเศษแก้ว ซึ่งเป็นแนวคิดของนักศึกษาวิชาโครงการให้กับชุมชนหมู่บ้านท่าใหม่ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำไปประกอบอาชีพสร้างรายได้เข้าชุมชน ผ่านการทำเป็นผลิตภัณฑ์อิฐบล็อกประสานจากเศษแก้วเนื่องจากที่ชุมชนมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตอิฐสร้างบ้านอยู่แล้ว จึงนำนวัตกรรมเข้าไปเพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้จากการค้นคว้าวิจัยคุณสมบัติของเศษแก้วที่บดได้ทำให้พบว่า มีส่วนประกอบเหมือนกับทรายดังนั้นจึงนำเศษแก้วที่ได้ไปใช้แทนทราย ซึ่งเป็นส่วนผสม 20% ของวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของการทำอิฐ ปรากฏว่าผลที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ และสามารถนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้โดยปัจจุบันได้รับความนิยมจากลูกค้าในการนำไปสร้างเป็นกำแพงของที่อยู่อาศัย จนมียอดคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก

"ปัญหาของภาคใต้คือการเก็บทรายจะต้องทำด้วยวิธีการขุด ซึ่งเป็นการทำลายธรรมชาติ เราจึงทดลองแก้ปัญหาด้วยการนำเศษแก้วที่บดได้ไปเป็นผสมในการทำอิฐสร้างบ้านแทนทราย จากเดิมที่ส่วนผสมของอิฐจะประกอบไปด้วย ดิน 50%,ทราย 20%,ปูนซีเมนต์ 20% และน้ำ 10% โดยได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ และสามารถทำตลาดในเชิงพาณิชย์ได้"

สำหรับจุดเด่นของอิฐบล็อกประสานจากเศษแก้วนั้น จะมีความแข็งแรง และสามารถรองรับแรงกระแทกได้มากกว่าอิฐบล็อกที่ทำจากทรายถึง 2 เท่า อีกทั้งยังมีสามารถสะท้อน แสงได้ในตัว ทำให้เหมาะกับการนำไปสร้างเป็นกำแพงบ้าน เพื่อเป็นจุดสังเกตให้ได้รู้ว่าเป็นกำแพง และช่วยประหยัดพลังงานจากการเปิดไฟ นอกจากนี้ จากการวิจัยร่วมกับกระทรวงพลังงานโดยนำอิฐดังกล่าวไปสร้างบ้านยังพบว่าช่วยประหยัดพลังงานจากการเปิดแอร์ได้มากกว่า 50% เนื่องจากแก้วมีคุณสมบัติที่ไม่อมความร้อน เช่นเดียวกับคุณลักษณะพิเศษของบ้านที่สร้างด้วยดิน เพราะมีส่วนผสมของดินอยู่ถึง 50%

นายชาญชัย กล่าวต่อไปอีกว่า ล่าสุดทางชุมชนได้ขยายโรงงานที่ผลิตอิฐบล็อกประสานจากเศษแก้วมาที่ตัวเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพิ่มอีก 2 แห่ง เพื่อขยายฐานลูกค้า และลดขั้นตอนการขนส่งอิฐบล็อกไปสู่ลูกค้าอีกทั้งยังมีแผนขยายโรงงานไปสู่พื้นที่จังหวัดภูเก็ต เนื่องจากเป็นพื้นที่มีปัญหาขยะขวดแก้วเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาแนวทางถึงความเป็นได้ รวมถึงเตรียมต่อยอดงานวิจัยไปสู่โครงการผลิตโต๊ะหินอ่อน ที่อยู่ในขั้นตอนทำวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของการใช้งานว่ามีคุณสมบัติเทียบเท่ากันได้หรือไม่ ซึ่งหากผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจจะนำไปสู่เป้าหมายของการผลิตโต๊ะหินอ่อนจากแก้วในเชิงพาณิชย์

ขณะที่นายโชคดี ชนะราวี ประธานชุมชนบ้านท่าคลองใหม่ กล่าวว่า ในปี 2559 ชุนชนมีรายได้จากการจำหน่ายอิฐบล็อกประสานจากแก้วได้ประมาณ 1 ล้านบาท โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะสั่งอิฐไปเพื่อสร้างเป็นกำแพงบ้าน ซึ่งชุมชนจะมีเงื่อนไขในการส่งสินค้าให้ไม่เกิน 100 กิโลเมตร ดังนั้นจึงมีการขยายโรงานเข้าสู่ตัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และที่ภูเก็ตดังกล่าว โดยเชื่อว่าจากการขยายโรงงานจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้มากกว่าปีที่ผ่านมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,246 วันที่ 23 - 25 มีนาคม พ.ศ. 2560