ค่าบาทผันผวน ออร์เดอร์ชะงัก

19 มี.ค. 2560 | 04:11 น.
ส่งออกป่วน! เฟดขึ้นดอกเบี้ย เงินบาทกลับแข็งค่าชะลอรับออร์เดอร์ วงการชี้เหตุผู้นำเข้าแห่ทำฟอร์เวิร์ดหวั่นบาทอ่อนดันราคาสินค้าขยับ แต่ภาพรวมเอกชน-นักวิชาการมองมุมบวกกระทบไทยระยะสั้นแต่ส่งสัญญาณศก.สหรัฐฯฟื้นมั่นใจส่งออกไทยโต 3-5%

จากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้แต่ขณะนี้เงินบาทกลับแข็งค่าสวนทางทำวงการผู้ส่งออกมึนกระทบการตัดสินใจรับออร์เดอร์แต่ระยะยาวยังมีความเชื่อมั่นว่าจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย ช่วยยํ้าความมั่นใจเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะขยายตัวดีขึ้นตามลำดับและจะส่งผลบวกต่อการค้าการส่งออกของไทยและของโลกให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในปีนี้

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า หลังเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อค่ำวันที่ 15 มีนาคม 2560 ตามเวลาประเทศไทย ค่าบาทไทยไม่ผันผวนมาก ยอดขายหุ้นสุทธิของต่างชาติในไทยกว่า 1,000 ล้านบาท จากในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้า ที่รับรู้ข่าวเฟดเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ย ต่างชาติเทขายหุ้นเฉลี่ยวันละ 2,000 ล้านบาท และเงินไหลออกจากการขายพันธบัตรไทย อย่างไรก็ดีจากที่เฟดมีแผนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในกลางปีและปลายปีนี้ คาดจะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในครึ่งปีหลังมีความผันผวนบ้างแต่คงไม่มาก

"อย่างไรก็ตามการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัว เศรษฐกิจโลกน่าจะได้รับอานิสงส์ การส่งออกของไทยจึงมีทิศทางบวก โดยเป้าหมายส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้เดิมที่ 3% ก็มีความเป็นไปได้พอสมควร"

 บาทแข็งรับออเดอร์สะดุด
นางฉวีวรรณ คำพา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ผลิตและส่งออกไก่แปรรูป กล่าวว่า ปกติแล้วการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า และเงินบาทจะอ่อนค่าจากเงินทุนไหลออก แต่ปรากฎเวลานี้เงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น (ค่าเงินบาทระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2560 อยู่ที่ 35.27 35.06 และ 34.94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ) มองว่าสาเหตุหลักมาจากทั้งผู้นำเข้าสินค้าและผู้ส่งออก เกรงจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินผันผวน เร่งทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน(ฟอร์เวิร์ด)กันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในส่วนสินค้าไก่ คำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ถูกลูกค้าต่อรองราคา อ้างเรื่องเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ดี

แหล่งข่าวจากผู้ส่งออกทูน่ากระป๋อง กล่าวว่า ยังงงกับสถานการณ์เงินบาทไทยแข็งค่าขึ้นหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย เพราะโดยหลักแล้วเมื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ย ดอลลาร์สหรัฐฯจะแข็งค่าขึ้น เงินบาทไทยจะอ่อนค่าลง ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ การรับคำสั่งซื้อของผู้ส่งออกได้ชะลอหรือหยุดชะงักลง เพราะไม่รู้จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนใดในการโค้ดราคา เพื่อไม่ให้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตข้างหน้า แต่โดยทฤษฎีแล้วการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินที่ผันผวนผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะทำฟอร์เวิร์ดเอาไว้

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ค่าเงินมีความสำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ ในการโค้ดราคาส่งออกข้าว เพราะทุก 1 บาทที่แข็งค่าขึ้นหรืออ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีผลต่อราคาข้าวไทยสูงขึ้นหรือต่ำลงประมาณ 3% หรือประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน หากในช่วงต่อไปค่าเงินบาทผันผวนมากขึ้นจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย ในการซื้อขายข้าวคงต้องทำฟอร์เวิร์ดให้ครอบคลุมมูลค่าสินค้าให้มากที่สุดเพื่อป้องกันขาดทุน แต่จะครอบคลุมความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใดขึ้นกับเครดิตที่แบงก์ให้กับลูกค้าแต่ละราย

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป มองต่างมุม โดยคาดการณ์จากนี้ไปเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า และเป็นช่วงเวลาที่เหมาะในการรับคำสั่งซื้อใหม่ จากต้นปี(มกราคม-กุมภาพันธ์)เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาช่วงหนึ่ง ทำให้ผู้ส่งออกสินค้าอาหารชะลอการรับคำสั่งซื้อ

"ช่วงนี้เหมาะที่จะรับออเดอร์เพราะเงินบาทยังถือว่าอ่อนค่า โดยทำฟอร์เวิร์ดไว้เพื่อป้องกันเงินบาทแข็งค่าทำให้ขาดทุน ในส่วนของสินค้าอาหารสำเร็จรูป 6 กลุ่มยังมองว่าเป้าหมายส่งออกปีนี้ที่ 2.1 แสนล้านบาท ขยายตัวที่ 5% ยังเป็นไปได้ แต่จะขอดูสถานการณ์ในครึ่งปีหลังอีกครั้งว่าจะปรับหรือไม่ปรับเป้าหมายอย่างไร"

สรท.-พาณิชย์มองบวก
ส่วนนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) ระบุ การปรับขึ้นดอกเบี้ยแสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯและเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว จะส่งผลดีต่อการค้า การส่งออกของไทยและของโลก เชื่อว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 2-3 % ส่วนเงินบาทน่าจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯส่งผลดีต่อการแข่งขัน

เช่นเดียวกับ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่กล่าวว่า เฟดขึ้นดอกเบี้ย เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทย ทางกระทรวงยังมั่นใจไทยจะส่งออกในปีนี้ได้ตามเป้าหมายขยายตัวที่ 5%

 หลายชาติยังคงดอกเบี้ย
ธนาคารกลางขนาดใหญ่หลายแห่งมีการประชุมในช่วงเวลาใกล้เคียงกับเฟด โดยส่วนใหญ่ยังคงมีท่าทีว่า จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอยู่เช่นเดิม อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์กล่าวว่า ในขณะที่ธนาคารกลางอื่น ๆ น่าจะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด แต่ก็ส่งสัญญาณว่าจะไม่ผ่อนคลายนโยบายลงมากไปกว่าเดิม

โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ -0.1% ในการประชุมวันที่ 15-16 มีนาคม ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่ยังอ่อนแอ ขณะที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ในวันพฤหัสบดี (16 มี.ค.) มีมติ 8 ต่อ 1 คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.25% ส่วนการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เมื่อต้นเดือนมีนาคม มีมติคงนโยบายการเงิน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560