ลาซาด้าเด้งรับจ่ายภาษี

21 มี.ค. 2560 | 05:15 น.
เก็บภาษี VAT อี-คอมเมิร์ซสะเทือนวงการ ผู้ค้าเริ่มตกใจชะลอธุรกรรมซื้อขายออนไลน์ ด้านลาซาด้า ระบุพร้อมทำตาม กฏหมายไทย ส่วนแอร์บีเอ็นบี เผยเร่งหารือกับรัฐบาล 200 เมืองทั่วโลกเรื่องภาษี

หลังมีกระแสข่าว กรมสรรพากร มีนโยบายจัดเก็บภาษี VAT ธุรกรรมการซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ พร้อมทั้งพัฒนาเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมาจับข้อมูลตลอดจนความเคลื่อนไหวการซื้อขายสินค้า สร้างความตื่นตระหนกให้กับร้านค้าออนไลน์เป็นอย่างมาก โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม ขณะนี้เห็นสัญญาณบางรายเริ่มชะลอทำธุรกรรมซื้อขายแล้ว

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ" กรรมการผู้จัดการ บริษัทตลาดดอทคอม จำกัด ผู้ให้บริการตลาดกลางออนไลน์ หรือ อี-มาร์เก็ตเพลสของไทย และรักษาการนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าภายหลังจากมีกระแสข่าวเรื่องการจัดเก็บภาษี VAT ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซออกมา สร้างความตื่นตระหนกและความสับสนให้ผู้ค้าสินค้าผ่านทางอี-คอมเมิร์ซเป็นอย่างมาก บางรายในขณะนี้เริ่มมีการชะลอการทำการค้าบนออนไลน์ลงไป เพราะไม่แน่ใจว่าปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

ส่วนตัวเห็นด้วยกับการเก็บภาษี VAT จากการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ แต่ควรทำให้เป็นระบบ มีนโยบายการจูงใจผู้ประกอบการ และมีแคมเปญรณรงค์ใหญ่ มากกว่ามีมาตรการปราบปราม ตรวจจับ ออกมา เพราะทำให้ผู้ค้าเกิดความตื่นตระหนก และไม่กล้าเข้ามาทำธุรกิจผ่านออนไลน์ ท้ายสุดก็จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม

ด้านนายอเล็ก แซนดรอบิสชินี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัทลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์ "ลาซาด้า" เปิดเผยว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการเก็บภาษี VAT ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ จึงยังไม่สามารถแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามบริษัทมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในไทย และปฏิบัติตามกฎหมายไทย หากมีนโยบายชัดเจนออกมาก็พร้อมดำเนินการ

ส่วนข้อถามที่ว่าร้านค้าในลาซาด้า มีการจ่ายภาษี VAT หรือไม่ คงไม่สามารถแสดงความเห็นได้ อย่างไรก็ตามในเงื่อนไขการขายสินค้าบนเว็บไซต์ลาซาด้าระบุไว้ชัดเจนว่าร้านค้าจะต้องมีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และปฏิบัติตามกฎหมาย

ด้านนายโจ เกบเบีย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์แอร์บีแอนด์บี กล่าวถึงเรื่องภาษีว่า "ตอนนี้ทำงานร่วมกับรัฐบาลกว่า 200 เมืองทั่วโลกเพื่อเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ โดยในมุมมองของเรา เชื่อในกฎที่เป็นธรรมและสมดุล และทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับรัฐบาลต่างๆ ในเรื่องนี้"

เขายังให้ความเห็นอีกว่า ทุกครั้งที่มีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นมา หลายสิ่งที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันอยู่ในปัจจุบันนี้ อย่างการแชร์เพลงออนไลน์ เอทีเอ็ม หรือแม้แต่ตอนมีรถยนต์ใหม่ๆ ก็เผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก ผู้กำหนดนโยบายจะมีความเห็นต่างๆ นานา มีความกังวล รัฐบาลไม่รู้ว่าจะรับมืออย่างไร แต่ผมคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อรัฐบาลเข้าใจธรรมชาติของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเหล่านี้ พวกเขาก็จะออกกฎมาได้อย่างเหมาะสมที่ไม่ขัดต่อความสะดวกในการใช้งานของผู้คน

ส่วนข้อกังวลเรื่องของความปลอดภัยนั้น นายโจ กล่าวว่า อันที่จริงแล้วเรามีข้อมูล มีระบบการตรวจสอบ การเข้าพักของแขกและ เจ้าของห้องพัก (โฮสต์) ทุกคน มีข้อมูลการชำระเงินทั้งหมด รู้ว่าพวกเขามาจากไหน ขณะที่โฮสต์เราก็รู้หมายเลขบัญชีเพราะต้องจ่ายเงินให้พวกเขา นอกจากนี้ยังมีวิธีการติดตามมาร์เก็ตเพลส ถ้าใครมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เราจะลบเขาออกจากแพลตฟอร์มทันที ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเกิดขึ้นน้อยมาก ไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560