ค้านยุบรวมแคท-ทีโอทีเหตุเสี่ยงสูง

19 มี.ค. 2560 | 12:20 น.
“สรรพชัย” เดินสายแจงพนักงานโครงสร้างใหม่แคท-ทีโอที คาดทำรายได้กว่า 1.2 หมื่นล้านในปี 64จ่อชงครม.ปลายเดือนนี้ด้านสหภาพฯร้อง “บิ๊กตู่”ชะลอชี้เสี่ยงสูง สอดรับ“อนันตพร” ส่งหนังสือด่วนถึงก.ดีอีระบุแผนขาดความน่าเชื่อถือ จี้ให้ศึกษาใหม่

แหล่งข่าวจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ แคท ได้จัดทำโครงการ "CEO" สัญจรปฏิรูปองค์กร โดยเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา พ.อ.สรรพชัย หุวะนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ลงไปในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นจังหวัดที่ 2 หลังจากจัดไปแล้วที่ จ.สระบุรี เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงานถึงโครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้น

สืบเนื่องจากมติ คนร.(คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ดำเนินธุรกิจใน 6 กลุ่มธุรกิจและปรับลดค่าใช้จ่าย 10% โดยกรอบการจัดตั้งบริษัทใหม่มีรัฐบาลถือหุ้น 100% เดิมให้ตั้ง3 บริษัทใหม่ แต่ต่อมาปรับเหลือเพียง 2 บริษัท คือบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศ จำกัด หรือ NGDC CO. เพื่อดำเนินธุรกิจเคเบิลใยแก้วใต้น้ำและธุรกิจศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต และจัดตั้งบริษัท NBN Co. เพื่อดำเนินธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ และกำหนดเดือนกรกฎาคมนี้จะเริ่มดำเนินงานตาม โครงสร้างใหม่

สำหรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ แคท ได้ประมาณการรายได้โครงข่ายระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2560-2564 โดยกลุ่มธุรกิจโครงข่ายระหว่างประเทศและกลุ่มธุรกิจอินเตอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 7,453 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์มีรายได้รวมทั้งสิ้น 5,036 ล้านบาท

ด้านนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำเสนอความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจของ ทีโอที และ แคท ให้กับพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอรายงานความคืบหน้าการปรับโครงสร้างธุรกิจ นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 22 มีนาคมนี้

ขณะที่นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ สร.กสท กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา สร.กสท. ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) เพื่อให้ชะลอการปรับโครงสร้างองค์กร จนกว่าจะได้รับความชัดเจนเรื่องการประเมินสินทรัพย์ มูลค่าสินทรัพย์ และ ชนิดของสินทรัพย์ที่จะโอนไปอยู่ในบริษัท NGDC และ บริษัท NBN

"ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนในการซื้อบริการ ทั้งปริมาณ ราคา และ ระยะเวลา เพื่อที่จะประมาณการรายได้ของบริษัทใหม่ได้อย่างถูกต้อง ทั้งยังมีเรื่องโครงสร้าง การบริหารจัดการบุคลากร ผลตอบแทน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของต้นทุน เราไม่ได้ขัดขวาง การเปลี่ยนแปลง แต่ต้องมีความชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงกระทบต่อฐานะการเงิน เพราะยังไม่มีการวิเคราะห์ให้รอบด้าน" นายสังวรณ์ กล่าว

นอกจากนี้มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แจ้งสรุปผลการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ ว่า ที่ประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา

คณะอนุกรรมการฯได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ในการจัดตั้งบริษัท NGDC และ บริษัท NBN ยังขาดรายละเอียดที่จะทำให้แผนธุรกิจครบถ้วนสมบูรณ์และมีความน่าเชื่อถือตามหลักเกณฑ์การจัดตั้ง การร่วมทุนและกำกับดูแลบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกระทบกับความเป็นไปได้ทางธุรกิจ จึงควรมอบหมายให้คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาของ ทีโอที และ แคท พิจารณารายละเอียดของผลการศึกษาจัดตั้งการร่วมทุนในบริษัทที่จะตั้งใหม่ แผนธุรกิจ และ แผนการเปลี่ยนผ่านเพื่อดำเนินธุรกิจ พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560