เชฟรอนยอมคืนภาษี3พันล้าน เคารพในข้อกฎหมาย-ยืนยันส่งน้ำมันทำถูกต้อง

20 มี.ค. 2560 | 14:00 น.
เชฟรอน(ไทย) ยอมจ่ายภาษีสรรพสามิตคืนรัฐ3,000 ล้านบาท หลังกฤษฎีกาตีความส่งนํ้ามันไปแท่นผลิตปิโตรเลียมกลางทะเลอยู่ในราชอาณาจักรไทย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเคารพต่อข้อกฎหมาย ยันที่ผ่านมาทำถูกต้อง พร้อมลงทุนปีนี้อีก 600 ล้านบาท ขยายปั๊มเพิ่มอีก 30 แห่ง

หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตีความเกี่ยวกับกรณีการขนส่งน้ำมันของบริษัท เชฟรอน(ไทย) จำกัด ระหว่างชายฝั่งในราชอาณาจักรและพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมนอกบริเวณทะเลอาณาเขต โดยไม่ได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตนั้น

ล่าสุดทางทางกฤษฎีกาได้มีหนังสือถึงบริษัท เชฟรอน(ไทย)ฯ ขอให้ดำเนินการจ่ายภาษีสรรพสามิตอย่างถูกต้องตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ตามที่มีการประเมินไว้ ราว 3,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ขัดกับข้อกฎหมายและความสบายใจของทุกฝ่าย

นายบุญญฤทธิ์ ศรีอ่อนคง ผู้จัดการฝ่ายองค์กรและรัฐสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่กฤษฎีกาได้มีหนังสือมาถึงบริษัท ได้ให้ฝ่ายกฎหมายตีความในคำสั่งดังกล่าว และยอมที่จะจ่ายภาษีคืนให้กับภาครัฐ เพื่อให้ได้ข้อยุติของทุกฝ่าย และเป็นการบ่งบอกถึงบริษัทได้ดำเนินการอย่างโปร่งใส และเคารพต่อการตัดสินใจในข้อกฎหมาย

[caption id="attachment_135651" align="aligncenter" width="500"] บุญญฤทธิ์ ศรีอ่อนคง บุญญฤทธิ์ ศรีอ่อนคง[/caption]

อย่างไรก็ตาม บริษัทยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามคำสั่งของกรมศุลกากรมาโดยตลอด ซึ่งไม่ได้เป็นเหตุที่เกิดจากบริษัทแต่อย่างใด การส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปยังแท่นสำรวจขุดเจาะของบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เกิดขึ้นก่อนปี 2554 เป็นการดำเนินงานในรูปแบบการค้าชายฝั่ง แต่พอหลังจากปี 2554 เป็นต้นมา กรมศุลกากรก็เปลี่ยนเป็นการค้าแบบส่งออก ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่านโยบายจะเปลี่ยนไปมา แต่บริษัทก็ดำเนินการตามคำแนะนำของกรมศุลกากรมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความออกมาเช่นนี้ ทางบริษัทจึงต้องหารือกับทางฝ่ายกฎหมายก่อน เพื่อตีความคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งที่ผ่านมาก็หารือกับบริษัทแม่ที่สหรัฐอเมริกามาโดยตลอด ว่าการดำเนินงานจะต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน

นายบุญญฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนทิศทางการดำเนินงานของบริษัทนั้น ในปีนี้มีแผนที่จะลงทุนก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 30 แห่ง ใช้งบลงทุนประมาณแห่งละ 20 ล้านบาท หรือประมาณ 600 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดิน จากปัจจุบันมีอยู่ 375 แห่ง โดยบริษัทมีแผนที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันให้ได้อย่างน้อยปีละ 25-30 แห่ง ซึ่งมองว่าไม่เกินปี 2563 บริษัทน่าจะมีสถานีบริการน้ำมันขึ้นไปที่ระดับ 500 แห่งได้ เนื่องจากในปีที่ผ่านๆมา สามารถขยายสถานีบริการน้ำมันได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเน้นทำเลคุณภาพบนเส้นทางสายหลัก และหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

สำหรับการที่บริษัทฯยังขยายสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการแข่งขันสูง เนื่องจากประเมินว่าความต้องการใช้น้ำมันของประเทศยังเติบโตในอัตราที่สูงอยู่เฉลี่ยปีละ 2-3% ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้น ประกอบกบราคาน้ำมันขายปลีกอยู่ในภาวะต่ำ ไม่ปรับเพิ่มขึ้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการขายน้ำมันสำเร็จรูปผ่านสถานีบริการน้ำมัน ภาคอุตสาหกรรม น้ำมนอากาศยานและยางมะตอย ปีที่ผ่านมาขยายตัวในระดับ 8% และส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 9% จากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปทั้งดีเซลและเบนซินใหม่ออกมา ซึ่งสามารถช่วยลดการสึกหรอลงได้ 41% และลดกัดกรอนของเครื่องยนต์ลงได้ 38% ส่งผลต่อการประหยัดน้ำมัน และเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ แต่จำหน่ายในราคาเท่าเดิม ส่งผลให้บริษัทมีส่วนแบ่งการค้าปลีกน้ำมนอยู่ที่ราว 6%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560