รถเพื่อการพาณิชย์แข่งดุ เดมเลอร์-ฟูโซ่ คัมแบ็ก โฟตอน-ยูดี-ทาทาส่งรถใหม่

20 มี.ค. 2560 | 09:00 น.
ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์เดือด ผู้เล่นหน้าใหม่-เก่า เปิดศึกชิงยอดขาย “เดมเลอร์-ฟูโซ่”เตรียมแจ้งเกิดอีกรอบในไตรมาส 2 ชูจุดแข็งแบรนดิ้ง และการสนับสนุนจากบริษัทแม่ ด้านโฟตอน ปรับโครงสร้างองค์กรและเล็งขึ้นไลน์ผลิตรถ 10 ล้อ ขณะที่สแกนเนีย ทุ่ม 800 ล้านสร้างโรงงานใหม่ส่วนยูดีทรัคส์ และทาทา เปิดรถใหม่กระตุ้นตลาด

อานิสงส์จากโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆของภาครัฐ รวมไปถึงการเปิดเออีซี และการพยายามสนับสนุนให้ไทยเป็นฮับของการผลิตรถบรรทุก-รถหัวลาก เพื่อป้อนทั้งตลาดในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความต้องการใช้รถในเซกเมนต์นี้เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา และส่งผลให้หลายค่ายผู้ผลิตทั้งจีน ,ญี่ปุน ,ยุโรป ต่างเห็นโอกาสทางการตลาดและมีการลงทุนพร้อมทั้งพัฒนา และงัดกลยุทธ์ต่างๆออกมาแข่งขันกันเพื่อแย่งยอดขาย

ค่าย ฟูโซ่ ที่หายเงียบจากตลาดบ้านเราไปปีกว่าๆเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลระหว่างผู้นำเข้ารายเดิมอย่างตันจงกรุ๊ป และ Mitsubishi Fuso Truck and Bus Corporation ( MFTBC) ประเทศญี่ปุ่น บริษัทลูกของเดมเลอร์ กรุ๊ปที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งตอนนี้แม้จะยังมีคดีความกันอยู่ แต่ชัดเจนว่าสิทธิในการทำตลาดหลังจากนี้จะอยู่ภายใต้ บริษัท เดมเลอร์ คอมเมอร์เชียล วีฮีเคิลส์ (ประเทศไทย)จำกัด

สำหรับเดมเลอร์ คอมเมอร์เชียลได้จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา คาดว่าไตรมาส 2 -3 ของปีนี้จะเริ่มมีการดำเนินธุรกิจภายใต้แบรนด์เดมเลอร์ –ฟูโซ่อย่างเป็นทางการ โดยจะมีทั้งรถเพื่อการพาณิชย์อย่างรถหัวลาก รถบรรทุก และรถบัส ซึ่งจะนำเข้ามาจากโรงงานอินเดีย และยุโรป และในอนาคตหากความต้องการของตลาดรถบัสหรือมินิบัสมีเพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะมีแผนเข้ามาประกอบในไทย เพราะในอดีตเคยทำการประกอบและจำหน่าย แต่เนื่องจากแบรนด์รถบัสจีนเข้ามาตีตลาดทำให้ต้องหยุดประกอบไป

“เมอร์เซเดส - เบนซ์ ลีสซิ่ง จะเข้ามาสนับสนุนทางการเงินให้กับเดมเลอร์ คอมเมอร์เชียล วีฮีเคิลส์ ประเทศไทย ในการดำเนินธุรกิจหลังจากนี้ ซึ่งในเริ่มแรกของการทำตลาดคาดว่าจะปล่อยสัดส่วนสินเชื่อให้ประมาณ 10% ก่อน และอีก 90 % จะเป็นการปล่อยสินเชื่อให้รถเบนซ์ แต่ในอนาคตหากมีการประกอบหรือมีการทำตลาดจริงจัง สัดส่วนของกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้น”นายศุภวุฒิ จิรมนัสนาคร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมอร์เซเดส -เบนซ์ ลีสซิ่ง (ประเทศไทย)จำกัด

น้องใหม่อีกหนึ่งแบรนด์ อย่างโฟตอน ได้ปรับโครงสร้างองค์กร ด้วยการตั้งประธานใหม่อย่าง นายเจียง ไจ้บิน หวังสร้างความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจในไทยให้มีมากขึ้น โดยปัจจุบันโฟตอนมีรถเพื่อการพาณิชย์จำหน่าย ได้แก่ รถผสมปูน และ รถหัวลากที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ชูจุดขายที่ราคาถูกกว่าแบรนด์ญี่ปุ่นเกือบ 1 ล้านบาท และในช่วงปลายปีคาดว่าจะมีรถรุ่นใหม่เข้ามาทำตลาด พร้อมทั้งเตรียมศึกษาแผนประกอบรถขนาด 10 ล้อในประเทศไทย เนื่องจากหากนำเข้ามาจากจีนต้องเสียภาษีสูงกว่า 40 %

“หลังจากเปิดตัวรถหัวลากและรถผสมปูนไปตั้งแต่ปลายปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีกลุ่มลูกค้าให้ความสนใจจองรถในหลักร้อยคัน แต่บริษัทยังติดปัญหาเรื่องการส่งมอบรถ และการอนุมัติสินเชื่อที่ยังมีความเข้มงวด ทำให้แผนงานตอนนี้คือเร่งหาพันธมิตรทางการเงินและเตรียมที่จะตั้งลีสซิ่งของตัวเอง ส่วนแผนงานด้านสินค้าและเครือข่ายดีลเลอร์จะเห็นความชัดเจนในปลายปี แต่ยืนยันว่าโฟตอนจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างจริงจังแน่นอน และพร้อมจะลงทุนตามที่เคยประกาศไว้ ด้วยมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท”แหล่งข่าวจากบริษัทโฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย )จำกัด เผย

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของเจ้าอื่นๆที่อยู่ในตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ก็เป็นไปอย่างคึกคัก โดยค่ายที่เพิ่งประกาศลงทุนไปล่าสุดคือ สแกนเนีย ที่ทุ่ม 800 ล้านบาทสำหรับโรงงานประกอบรถบรรทุก หัวเก๋ง และ แซสซีย์รถโดยสารแห่งใหม่ในไทย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า และจะใช้ไทยเป็นฐานการประกอบเพื่อป้อนให้กับลูกค้าในภูมิภาคอาเซียน เอเชีย และโอเชียเนีย ขณะที่แผนงานอื่นๆได้ทำการเปิดตัว G-Series ที่นำเข้ามาจำหน่าย 30 คัน และเพิ่มการตรวจเช็กสภาพ ซ่อมฟรียาว 2 ปี

ข้ามมาที่แบรนด์ญีปุ่น อย่างยูดี ทรัคส์ หลังจากประสบความสำเร็จกับรุ่นเควสเตอร์ ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ล่าสุดก็ได้เปิดรุ่นใหม่ โครเนอร์ ที่มีให้เลือก 3 รุ่น ได้แก่ MKE, LKE และ PKE แต่สามารถนำเสนอในรูปแบบที่ต่างกันได้กว่า 21 รูปแบบ เพื่อรองรับความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมได้

“เราเปิดตัวรุ่น โครเนอร์เข้าสู่ตลาด เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ตลาดรถบรรทุกขนาดกลางมีความคึกคัก โดยรถของเรานอกจะเป็นโมเดลใหม่ ยังมีออฟชั่นหลากหลายให้เลือก อาทิ มีช่วงล่างถุงลมเพื่อปกป้องสินค้าไม่ให้เสียหายขณะขับขี่บนเส้นทางขรุขระ โดยเรามั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี และเพิ่มยอดขายได้ จากเดิมในปีที่ผ่านมาเราเติบโต 56% หรือขายได้ 800 คัน และมีส่วนแบ่งการตลาด 4.1 % เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มี 2.2% “นายกำลาภ ศิริกิตติวัฒน์ ประธานกรรมการ ยูดี ทรัคส์ (ประเทศไทย) เผย

ด้านแบรนด์ทาทา ที่มีการทำตลาดรถบรรทุก - หัวลาก ภายใต้แบรนด์ ทาทา แดวู ในปีนี้เตรียมเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ในรุ่น อัลตร้า ซึ่งเป็นรถ 6 ล้อ เจาะกลุ่มรถบรรทุกขนาดกลาง มีให้เลือกทั้งแบบท้ายสั้นและท้ายยาว โดยจะนำเข้ามาจากอินเดีย เปิดตัวครั้งแรกในงานมอเตอร์โชว์ที่จะมีขึ้นปลายเดือนมีนาคมนี้

....เรียกได้ว่าพร้อมรบ -พร้อมรุกกันทุกแบรนด์ ทั้งเจ้าเก่า - เจ้าใหม่ ที่ต่างงัดกลยุทธ์หวังโกยส่วนแบ่งและยอดขายในตลาดรวมที่มีกว่า 2 หมื่นคัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560