ผู้ค้าอี-คอมเมิร์ซสะเทือน!รัฐตั้งป้อมเก็บภาษีสร้างความเป็นธรรม

20 มีนาคม 2560
เป็นเพราะมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซในปีที่ผ่านมาสูงถึง 2.52 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.4% ขณะที่จำนวนผู้ประกอบการอยู่ที่ 6 แสนราย คาดการณ์ว่าภายใน 3-5 ปีจะเพิ่มเป็น 1 ล้านราย

ส่วนประเภทที่มีการซื้อ-ขายสูงสุด คือธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) อยู่ที่ 1.33 ล้านล้านบาท และ ธุรกิจขายให้กับผู้บริโภค (B2C) ประมาณ 0.51 ล้านล้านบาท และมูลค่าธุรกิจขายให้กับภาครัฐ (B2G) ประมาณ 0.40 ล้านล้านบาท
แม้ปริมาณการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น แต่ทว่าบรรดาผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศกลับไม่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด

นั้นจึงเป็นที่มาที่ กรมสรรพากร ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลังเตรียมจัดระเบียบเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ใหม่ทั้งหมด

 รัฐตั้งป้อมเก็บภาษี

อย่างไรก็ตามแนวทางการจัดเก็บภาษีโซเชียลมีเดีย และผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากขั้นตอนขณะนี้ กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างร่างกฎหมายโครงสร้างภาษีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการแก้ไขประมวลรัษฎากรกรหรือร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีผลบังคับใช้

ไม่เพียงเท่านี้ทางด้านกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงและพัฒนาเซิร์ฟเวอร์เพื่อดักจับข้อมูลและความเคลื่อนไหวการซื้อขายสินค้า กรณีที่มีเงินเข้าและไหลออก และยังได้พัฒนาโปรแกรมเพื่อติดตั้งโดยเกาะไปกับเว็บไซต์ในกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้แล้วในร่างพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ได้กำหนดโทษผู้หลบเลี่ยงไม่จ่ายภาษี หากเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเจตนาหลีกเหลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิจะออกแล้วฐานความฐานความผิดมาตรา 90/4(1) มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และ ปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 200,000 บาท

“คลังได้ให้กรอบเวลาการศึกษารูปแบบและวิธีการจัดเก็บภาษีออนไลน์ตลอดจนการอุดช่องโหว่ที่ในกฎหมายเดิมไม่มี ให้กรมสรรพากรเสนอกลับมายอมรับว่าการแก้ไขกฎหมายมีความยกมากกว่าภาษีที่เคยมีมาในอดีตเพราะไทยไม่เคยมีประสบการณ์ในการจัดเก็บภาษีการซื้อ ขายสินค้าออนไลน์”

 จัดระเบียบใหม่

อย่างไรก็ตามในต่างประเทศเริ่มจัดเก็บภาษีโซเชียลมีเดีย โดยสำนักงานสรรพากรอินโดนีเซียกำลังตรวจสอบกูเกิลที่มีรายได้จากโฆษณาออนไลน์ปีที่ผ่านมา 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาทแต่เสียภาษีในอัตราไม่เกิน 0.1% ซึ่งตามกฎหมายนิติบุคคลต้องเสียภาษีเงินได้ 10%

แหล่งข่าวจากกรรมการ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเก็บภาษีผู้ประกอบการอี - คอมเมิร์ซ เนื่องจากสร้างรายได้ในประเทศ แต่การจัดเก็บภาษีต้องมีขอบเขตที่ชัดเจนและไม่สกัดกั้นการเติบโต

สำหรับกรณีเฟซบุ๊ก รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจเพื่อดึงให้ เฟซบุ๊ก เข้ามาเปิดสำนักงานสาขาและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

  เอกชนหนุน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ออกมาสนับสนุนในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เนื่องจาก เอไอเอส เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยังเสียเงินได้นิติบุคคล เพราะฉะนั้น เฟซบุ๊ก ควรจะเสียภาษีเช่นเดียวกัน

ส่วนนายภาวุธพงษ์วิทยาภาณุ กรรมการบริหาร บริษัท โธธ โซเชียล จำกัด ให้ความเห็นว่าเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐ ที่ต้องการเรียกเก็บภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามภาครัฐควรใช้มาตรการส่งเสริม หรือจูงใจ ให้ผู้ประกอบการเสียภาษีอย่างถูกต้องมากกว่าการใช้มาตรการลงโทษ เช่น เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง

ประเด็นการจัดเก็บภาษีนั้นรัฐบาลสร้างความเป็นธรรมทางภาษีและสร้างระบบภาษีให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
เชื่อว่าภายในปีนี้เมื่อรัฐบาลปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรหรือร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

บรรดาผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ทั้งในและนอกประเทศ หรือแม้แต่บรรดาพวกที่ชอบฝากร้านขายของตาม “ไอจี” ของเหล่าเซเลบ และ ดารา ต้องควักกระเป๋าเสียภาษีเช่นเดียวกันเพราะที่ผ่านมาบรรดาพ่อค้า และแม่ค้าออนไลน์ เหล่านี้ไม่เสียภาษีแม้แต่บาทเดียว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560