นโยบายข้าวไนจีเรีย โอกาสการส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย

21 มี.ค. 2560 | 13:00 น.
ไนจีเรีย ประเทศที่มีประชากรกว่า 181.5 ล้านคน มีจำนวนมากที่สุดและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา ด้วยศักยภาพทางด้านทรัพยากรธรรมชาติทำให้ไนจีเรียมีรายได้จากการส่งออกที่โดดเด่นโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มปิโตรเลียม อาทิ น้ำมันดิบซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศมีปริมาณการส่งออก 95% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ด้วยจำนวนประชากรจำนวนมากและความสามารถในการผลิตอาหาร/สินค้าทางการเกษตรที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ทำให้ไนจีเรียต้องนำเข้าสินค้าทางการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นสินค้าทางการเกษตรสำคัญของไนจีเรียเพราะประชากรในประเทศนิยมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักมีปริมาณการนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 2-3 ล้านตันต่อปี

ที่ผ่านมา ไนจีเรียประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าว โดยเฉพาะบริเวณชายแดน ไนจีเรีย-เบนิน ที่มีปริมาณกว่าปีละ 5.71 แสนตัน ทำให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวในบริเวณชายแดน และเริ่มมีการออกนโยบายลดการนำเข้าอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงภายในประเทศ โดยบรรจุให้ข้าวเป็นหนึ่งในสินค้า 41 ชนิดที่ถูกควบคุมด้วยมาตรการทางภาษีและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางไนจีเรีย รวมทั้ง สนับสนุนการปลูกข้าวภายในประเทศโดยเฉพาะในรัฐ Ebonyi ทางตอนใต้ของประเทศซึ่งมีศักยภาพที่โดดเด่นในการปลูกข้าว

[caption id="attachment_135250" align="aligncenter" width="503"] นโยบายข้าวไนจีเรีย โอกาสการส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย นโยบายข้าวไนจีเรีย โอกาสการส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย[/caption]

ไนจีเรียเคยเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทยในทวีปแอฟริกา แต่เมื่อรัฐบาลไนจีเรียประกาศนโยบายลดการนำเข้าอาหารและสร้างความมั่นคงทางอาหารภายใน ทำให้ปริมาณส่งออกข้าวนึ่ง (parboiled rice) ของประเทศไทยไปยังไนจีเรียลดลงจนตกไปอยู่ที่อันดับ 4 อย่างไรก็ดี เบนินกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวไทยเป็นอันดับ 1 ในทวีปแอฟริกาแทน

แม้ว่านโยบายข้าวของไนจีเรียจะทำให้ปริมาณส่งออกข้าวไทยลดลง แต่โอกาสของธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรกลับเปิดกว้างมากขึ้น ปัจจุบันไนจีเรียมุ่งนโยบายการส่งเสริมภาคเกษตรกรรม ทั้งการปล่อยกู้ให้กับชาวนาของธนาคารกลาง และสนับสนุนการปลูกข้าวอย่างเต็มที่ นโยบายที่สำคัญของรัฐบาลไนจีเรียและรัฐบาลในระดับมลรัฐต่าง ๆ ให้ความสำคัญคือ การนำเข้าเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรจากต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะให้การสนับสนุนการปลูกข้าวแต่ชาวนาในไนจีเรียยังคงประสบปัญหาเรื่องโรงสีข้าวไม่เพียงพอ รวมถึงเครื่องสีข้าวส่วนใหญ่ยังไม่สามารถคัดแยกหิน ดิน กรวด และทรายออกจากข้าว ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับข้าวนำเข้าที่มีคุณภาพกว่าได้

นโยบายของรัฐบาลไนจีเรียดังกล่าวจึงกลายเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยในภาคอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลทางการเกษตรซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องข้าว เพื่อตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าวโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องจักรกลขนาดเล็ก อาทิ เครื่องจักรสีข้าวขนาดเล็ก เครื่องจักร และเครื่องมือทางการเกษตรอื่น ๆ รวมถึงการพัฒนาด้านบุคลากรด้านการเกษตรส่งไปยังประเทศไนจีเรีย

ในส่วนของการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาการเกษตรระหว่างไทยกับไนจีเรีย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา และสำนักงานส่งเสริมการค้าไทยในต่างประเทศ ได้ร่วมกันจัดโครงการพัฒนาและฝึกอบรมนักวิชาการเกษตรเพื่อพัฒนาการปลูกและผลิตข้าวในไนจีเรียเป็นเวลา 3 ปี มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยกับไนจีเรียอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการพัฒนาและฝึกอบรมนักวิชาการเกษตรของไนจีเรียเพื่อพัฒนาการปลูกและผลิตข้าวร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากปี 2557 และมีแผนงานจะจัดในปีต่อ ๆ ไปด้วยเช่นกัน เพื่อกระตุ้นการศึกษาและความต้องการของภาครัฐและภาคเอกชนของไนจีเรียในการนำเข้าเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรจากประเทศไทย

ปัจจุบันไนจีเรียเป็นคู่ค้าอับดับที่ 2 ของไทยในทวีปแอฟริกา มีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2558 ที่ผ่านมามีจำนวน 731.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 26,300 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 569.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 20,200 ล้านบาท และไทยนำเข้า 161.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5,700 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกลถือเป็น 1 ใน 5 กลุ่มสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปยังไนจีเรีย ดังนั้น การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐของไทยและนโยบายการสนับสนุนการปลูกข้าวของรัฐบาลไนจีเรียเองจึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการส่งออกสินค้าเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยเข้าไปสู่ประเทศไนจีเรียให้มากขึ้น

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560