เอกซเรย์ ‘ท้องถิ่น’ ยังไม่พร้อมเก็บ ‘ภาษีที่ดิน’

20 มี.ค. 2560 | 08:00 น.
“ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เป็นหนึ่งในกฎหมายสำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน ต้องการผลักดันให้ออกมาบังคับใช้ให้ได้ เพื่อเป็นอีกเครื่องมือในการจัดเก็บภาษี จากคนที่มีบ้านและที่ดิน

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องควบคู่กันไปคือการให้ความรู้กับท้องถิ่น ที่ยังเคยชินกับการบังคับใช้กฎหมายเก่า 2 ฉบับ ที่จะถูกยกเลิก คือ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ที่บังคับใช้มาแล้ว 85 ปี และพ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ที่บังคับใช้มา 52 ปี หลายฝ่ายกังวลว่า สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย คือความเข้าใจของบุคลากรที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีใน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า จากการเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้กับส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่มีคำถามเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในเรื่อง “รูปแบบการประเมิน” ที่เปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพราะรูปแบบเดิมจากกฎหมายเดิมจะถูกยกเลิกทั้งหมด

จากปกติ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ประชาชนต้องยื่นแบบภาษีโรงเรือนและที่ดิน2 (ภรด.2) หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบไต่สวนว่าทรัพย์สิน มูลค่าค่าเช่ามีจำนวนเท่าใด ถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องออกไปตรวจสอบ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะแจ้งประเมิน ต้องชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันประเมิน ต่างจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เมื่อมีความแน่นอนของฐานภาษีแล้ว เพราะแต่ละปีรัฐรู้อยู่แล้วว่าราคาประเมินควรเป็นเท่าใด หน่วยงานของรัฐก็ออกตรวจสอบว่าควรจะเปลี่ยนหรือไม่ สิ่งปลูกสร้างเปลี่ยนแปลงอย่างไร หลักการกฎหมายใหม่เจ้าหน้าที่จะแจ้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ว่า ต้องเสียภาษีเท่าไร และต้องจ่ายภาษีภายในเดือนเมษายน ตรงนี้เจ้าหน้าที่จะมีคำถามมาก เขาอาจจะเคยชินกับระบบเดิม ที่ต้องประเมินค่ารายปี แล้วก็แจ้งการประเมินให้ทราบ

และอีกคำถามที่ถามมากมาย เข้าใจว่าประเด็นนี้น่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ ที่ต้องเตรียมรับมือให้ดี คือ “อัตราภาษี” จะมีความแตกต่างกันระหว่างที่ดินที่ใช้ในการประกอบเกษตรกร อยู่อาศัย และอย่างอื่นๆ ในทางกฎหมายปัจจุบัน ที่ดินที่ใช้ในทางเกษตรกรรมจะอยู่ในอัตราต่ำสุด 0.2% แต่ถ้าอยู่อาศัยจะอยู่ที่ 0.5% แต่ถ้าไม่ถึง 50 ล้านบาทก็ไม่ต้องเสียภาษี

[caption id="attachment_135327" align="aligncenter" width="390"] ประภาศ คงเอียด ประภาศ คงเอียด[/caption]

รองปลัดกระทรวงการคลัง อธิบายว่า แต่จะมีจุดแบ่งว่า ถ้าใช้ที่ดินประกอบเกษตรกรรมและอยู่อาศัย กฎหมายจะกำหนดว่าถ้าอยู่อาศัยด้วยและประกอบเกษตรกรรมด้วย การจะเสียภาษี 0.5% ต้องใช้ในการประกอบเกษตรกรรมไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ตรงนี้จะเป็นจุดท้องถิ่นชนบท เขาก็ประกอบเกษตรกรรมด้วยและบ้านของเขาก็อยู่อาศัยด้วย ประเด็นว่าสัดส่วนเป็นเท่าไร น้อยหรือมากกว่า 3ใน 4 ซึ่งอัตราจะต่างกัน

“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เสียภาษีจากราคาประเมิน ที่มีกรมธนารักษ์ประเมิน การจะเสียภาษีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเป็นเจ้าของว่ามากหรือน้อย ถ้ามีน้อยก็เสียน้อย ดังนั้นในทางปฏิบัตินี่คือสิ่งที่ท้องถิ่นกังวลมาก เขายกตัวอย่างให้ผมฟังว่า ผมมีบ้านอยู่อาศัย เลี้ยงวัวด้วย แล้วพื้นที่เป็นเท่าไร ตรงนี้ก็จะมีคำถามว่าในการออกตรวจสอบ บ้านนี้มากกว่าหรือน้อยกว่า 3 ใน 4 หรือเปล่า บ้านติดกันทำไมเสียภาษีไม่เท่ากัน ถ้ารู้ปัญหาล่วงหน้าก็จะได้เตรียมแนวทางแก้ไข สำรวจออกไปตรวจอย่างไรเพื่อให้ข้อมูลถูกต้องมากที่สุด

นายประภาศ บอกถึงแก้ว่า ต้องแก้ด้วยการ กำหนดเป็นอัตราเดียวไปเลย ใช้ประกอบเกษตรกรรมและอยู่อาศัย ใช้อัตราเดียวกันก็จะหมดปัญหา คือไม่ต้องสำรวจแบ่งแยกว่าใช้เกษตรกรเท่าไร อยู่อาศัยเท่าไร ส่วนของที่ดินเปล่าที่ไม่ได้ใช้ก็เป็นอีกอัตราหนึ่ง และเสนอว่ากฎหมายหลักไม่ต้องลงรายละเอียด เพียงแค่กำหนดเพดานสูงสุดไว้ในกฎหมายว่ารัฐจะเก็บในอัตราสูงสุดไว้เท่าไร ส่วนการลงรายละเอียดอัตราสามารถเขียนไว้ในกฎหมายลูกได้

“กฎหมายนี้เป็นรายได้ของท้องถิ่นเอง และเป็นกฎหมายที่ใช้เวลานานในการออก เพราะกระทบกับทุกภาคส่วนที่มากที่สุดของสังคม และใกล้ตัวกับท้องถิ่น รัฐบาลต้องใช้ความรอบคอบในการออกกฎหมาย และคิดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 1 ปี หลังกฎหมายประกาศออกมาบังคับใช้ เช่น กฎหมายประกาศลงราชกิจจานุเบกษา 1ม.ค. 2561 อาจจะกำหนดว่าให้เริ่มใช้บังคับ 1ม.ค.2562 คิดว่า 1 ปีที่ให้ท้องถิ่นและหลายหน่วยงานเตรียมการ ต้องฝึกอบรม ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ให้เปลี่ยนความเคยชินในการใช้กฎหมายเดิม กฎหมายจะดียังไงก็แล้วแต่ คนที่มีอำนาจบังคับใช้ ต้องใช้กฎหมายอย่างที่ควรจะเป็น”

  ร่างภาษีที่ดินยังดู “เบลอๆ”


นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องการผูกโยงการเสียภาษีกับคนที่มีบ้านและที่ดิน มีมากก็จ่ายมาก มีน้อยก็จ่ายน้อย แต่มีการยกเว้นบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งท้องถิ่นบางพื้นที่อาจจะเก็บจากตรงนี้ไม่ได้เลย เพราะบ้านราคามากกว่า 50 ล้านบาท คงไม่มีตามชนบท ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า เชื่อว่าจะเป็นช่องว่างในการเลี่ยงภาษี ที่จะมีการปลูกกล้วย หรือเทปูนทำที่จอดรถให้เช่า และสร้างอาคารพาณิชย์ แบ่งเป็นห้องให้เช่า
แต่ทั้งปีไม่มีคนมาเช่า แบบนี้ถือว่าใช้ประโยชน์หรือไม่ เพราะขายไม่ออก ก็จะมีมุขแบบนี้ เพราะตามหลักภาษีเงินได้ถือว่าเขาไม่มีรายได้ก็เก็บเขาไม่ได้ เพราะทำธุรกิจล้มเหลว รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ ก็ไม่ต้องเสียภาษี จึงมองส่าหลักภาษีเงินได้ กับหลักภาษีที่ดินไม่ไปด้วยกัน

[caption id="attachment_135326" align="aligncenter" width="500"] อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา[/caption]

นายอดิศร์ ระบุว่า เมื่ออ่านกฎหมายแล้วไม่แน่ใจว่ากฎหมายต้องการเน้นอะไรกันแน่ ดูเบลอๆ พื้นหลักของกฎหมายไม่แน่ใจว่าทำมาเพื่ออะไร เพื่อเก็บทรัพย์สินคนรวย หรือหารายได้ให้ท้องถิ่น ถ้าหารายได้ให้ท้องถิ่นเสนอว่าให้ระบุมาเลยว่าจะเก็บเพดานกี่เปอร์เซ็นกันแน่ อย่าปล่อยให้เป็นดุลพินิจของท้องถิ่น เพราะอาจจะเก็บในอัตราต่ำสุด เพื่อรักษาฐานเสียงของท้องถิ่นที่เป็นนักการเมือง
“ก็น่าเห็นใจกระทรวงการคลัง เพราะสมมติอบต.ติดกัน ก็อาจจะคิดอัตราภาษีต่างกันก็ได้ ดังนั้นปัญหาพวกนี้สามารถเขียนให้ชัดเจนในกฎหมายลูกได้”
อย่างไรก็ตามตั้งข้อสังเกตว่า การที่ต้องการให้รายได้จากกฎหมายนี้เป็นรายได้ของท้องถิ่น จะมีการปรับลดเงินอุดหนุนของท้องถิ่นด้วยหรือไม่ ในระยะยาวถ้าท้องถิ่นเก็บเงินได้มาก เพราะถ้าวันไหนเขาโดนตัดงบประมาณอุดหนุนเขาก็จะอาจไม่เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มที่ก็ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560