น้ำพริก'รุ่งเจริญ' ติดจรวดเพิ่มยอดโกอินเตอร์

19 มี.ค. 2560 | 06:00 น.
บริษัท พี.พี.เอ็น.ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำพริกสำเร็จรูปในแบบทานพอดีมื้อ ตามแบบฉบับน้ำพริกมินิสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์"รุ่งเจริญ" ในยุคที่ "ธนาวัฒน์โพธิเผื่อนน้อย" กรรมการผู้จัดการบริษัท เจนัลเรชั่น 2 นั่งบริหาร แม้เป็นธุรกิจครอบครัวที่สะสมประสบการณ์มานานกว่า 30 ปี แต่ก็เป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายในรุ่นลูก ต้องรับไม้ต่อจากรุ่นพ่อ (จำเริญ โพธิเผื่อนน้อย) ผู้สร้างตำนานน้ำพริก"รุ่งเจริญ" จนติดตลาด โดยในช่วง 8-9 ปี ที่เข้ามาบริหารต้องรักษาระดับคุณภาพการผลิต การคัดสรรวัตถุดิบที่มาตอบโจทย์การผลิตน้ำพริกชนิดต่างๆให้มีคุณภาพดี สม่ำเสมอต่อเนื่อง

ล่าสุดสินค้ากำลังได้รับเสียงตอบรับจากตลาดอย่างน่าพอใจ จนเมื่อปลายปีที่ผ่านมาต้องลงทุนขยายกำลังผลิตจากโรงงานที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ เพิ่มกำลังผลิตจาก 2 ล้านถ้วยต่อเดือนเป็น 3 ล้านถ้วยต่อเดือนผลิตน้ำพริกออกมาให้ลูกค้าได้มีโอกาสเลือกมากถึง 14 ชนิดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็น"น้ำพริกมินิ" ขนาดพอดีทาน ไล่ตั้งแต่น้ำพริกนรก, น้ำพริกนรกแมงดา, น้ำพริกแมงดา,น้ำพริกตาแดง, น้ำพริกกุ้งสวรรค์, น้ำพริกปลาร้าทรงเครื่อง, น้ำพริกปลาย่าง, น้ำพริกปลาดุกฟู, น้ำพริกนรกกุ้ง, น้ำพริกเผา, น้ำพริกเผานรกเจ, น้ำพริกตาแดงเจ, น้ำพริกเผาเจ ทั้งหมดนี้ถูกแพ็กเป็นน้ำพริกมินิขนาดน้ำหนัก 12 และ 20 กรัม

  จุดเด่นคือขนาดพอดีมื้อ

กลุ่มที่ 2 เป็นแบบกระปุกมีขนาด50กรัม , 90 กรัมและ 500 กรัม รวม 13 ชนิด แต่จะเพิ่มชนิดที่ 14 เฉพาะแบบกระปุกคือน้ำพริกกุ้งเสียบ และกลุ่มที่ทำรายได้ดีที่สุดจะมาจากน้ำพริกนรก โดยน้ำพริกที่ขายจะมีจุดเด่นตรงที่ทำขนาดพอดีมื้อ แตกต่างจากตลาดที่ส่วนใหญ่เป็นกระปุก ความต่างดังกล่าวเกิดจากที่มีการสำรวจตลาดจนได้แพ็กเกจจิ้งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงใจที่สุด

ธนาวัฒน์ แย้มถึงแผนธุรกิจปี 2560 ว่า จากที่กำลังผลิตเพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านถ้วยต่อเดือนเพิ่มเป็น 3 ล้านถ้วยต่อเดือนทำให้บริษัทต้องวางเป้าหมายการขายปีนี้จาก 1 ล้านถ้วยต่อเดือนเพิ่มเป็น 1.5 ล้านถ้วยต่อเดือน จากยอดขายปีที่ผ่านมา 50 ล้านบาทต่อปี จะต้องเพิ่มขึ้น 20%ในปีนี้หรือมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 70-75 ล้านบาท

ทั้งนี้ตามแผนบริษัทจะขยายตลาดส่งออกให้เต็มรูปแบบมากขึ้น โดยรุกเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มCLMV((กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม)ผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่างๆ จะทำให้สัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 20% ในปัจจุบันเป็น 30-40% และขายในประเทศจาก 80% จะลดลงเหลือ 60-70% จากที่ปัจจุบันน้ำพริก "รุ่งเจริญ"มีการส่งออกไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลียและบางประเทศในตลาดCLMV อยู่ก่อนแล้วแต่ยังไปได้ไม่เต็มที่

 ในร้านสะดวกซื้อขายดีสุด

สำหรับช่องทางการจำหน่าย ในประเทศ มีทั้งหมด 5 ช่องทาง ไล่ตั้งแต่ 1.กระจายไปยังโมเดิร์นเทรด 2.ร้านสะดวกซื้อ 3.ขายผ่านตัวแทนจำหน่าย 4.ร้านขายของฝากทั่วไป 5.ขายผ่านออนไลน์ NAMPRIK MINI.COM โดยช่องทางที่ขายดีที่สุดจะมาจากร้านสะดวกซื้อ รองลงมาเป็นวางขายในร้านโมเดิร์นเทรด และขายผ่านออนไลน์ โดยภายในปีนี้จะขายสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการขายสินค้าเริ่มต้นมาก็ใช้ช่องทางออนไลน์โปรโมตสินค้าน้ำพริกรายแรก โดยแบรนด์"รุ่งเจริญ" มีเครื่องหมายการค้า มีการรับรองสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รวมถึงมีการรับรองสินค้าฮาลาลโดยราคาขายในประเทศมีตั้งแต่ราคาถูกสุดในกลุ่มน้ำพริกมินิที่ราคา 7 บาทต่อถ้วย ไปจนถึงแบบกระปุกขนาด 500 กรัมราคา 150 บาทต่อกระปุก

"การแข่งขันปัจจุบันถ้าเป็นกลุ่มน้ำพริกมินิจะเป็นผู้นำตลาดครอบคลุมตลาดได้มากกว่า ถ้าเป็นน้ำพริกแบบกระปุกมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ราว 5-10%"

สุดท้าย ธนาวัฒน์ บอกว่าหลักในการทำธุรกิจสิ่งที่ยึดเหนี่ยวมาโดยตลอดคือ ถ้าเราจะโตเราต้องสร้างความแตกต่างได้ และการที่จะรักษาธุรกิจให้อยู่ยาวได้ คือสินค้าต้องมีคุณภาพ วัตถุดิบจะต้องผ่านการคัดสรรที่ดี รวมถึงสินค้าต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง รวมไปถึงการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาจากประสบการณ์ในการไปร่วมอบรมกับหน่วยงานรัฐทั้งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร และหน่วยงานอื่นๆทำให้ได้ไอเดียนำมาพัฒนาและปรับใช้กับธุรกิจได้ นับเป็นโอกาสดีๆ ที่บริษัทได้รับมาตลอด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,245 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2560