4แผนรับมือภัยแล้งคืบหน้า ดัน7พันแปลงใหญ่ปฏิรูปเกษตรไทย

17 มี.ค. 2560 | 06:00 น.
ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูแล้งปี 2559/60 มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 สถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไรบ้างนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ "พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแผนการรับมือเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร ที่ในปีนี้ถือว่าได้เตรียมการณ์ไว้เป็นอย่างดี

 โชว์4 แผนสู้แล้งฉลุย

"พล.อ.ฉัตรชัย" กล่าวว่า นับแต่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้เข้ามาบริหารประเทศได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ รวมทั้งระบบกระจายน้ำได้มากขึ้น โดยระบุว่า "เราทำงาน 2-3 ปี ผลงานเทียบเท่ากับ 8-10 ปีในช่วงรัฐบาลที่ผ่านๆมาได้ทำ" ประกอบกับปีที่แล้วมีฝนตกมากทำให้มีปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น ปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ได้บรรเทาลง แต่เรื่องภัยแล้งนี้ทางกระทรวงไม่ประมาท ได้เตรียมการรับมือล่วงหน้ามาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2559 (ฤดูแล้งจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน) มีการประเมินเป็นระยะๆ

"ล่าสุด ได้มีการวิเคราะห์ ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่เสียหายจากภัยแล้งในปีนี้ไม่เกิน 105 อำเภอ ใน 34 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานที่น้ำต้นทุนอาจไม่เพียงพอ หากเปรียบเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 391 อำเภอใน 46 จังหวัด พื้นที่ภัยแล้งลดลงมา 3 เท่ากว่า โดย ณ วันที่ 13 มีนาคม 2560 ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศพื้นที่วิกฤติภัยแล้งมีเพียงจังหวัดเดียวคือ สระแก้ว ใน 3 อำเภอ"

อย่างไรก็ดีในปี 2560 ทางกระทรวงมีแผนรับมือภัยแล้ง 4 แผนได้แก่ 1.แผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2559/60 (พ.ย.59-เม.ย.60) จำนวน 17,661 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็นเพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,339 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 5,743 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 9,579 ล้าน ลบ.ม.ผลการจัดสรรน้ำทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 12,588 ล้านลบ.ม.คิดเป็น 71% ซึ่งเป็นไปตามแผน แม้ว่าในเขตชลประทานการใช้น้ำจะเกินแผนก็ตาม

ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลัก (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) รวมทั้งสิ้น 5,950 ล้าน ลบ.ม.แยกเป็นเพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 3,400 ล้าน ลบ.ม.โดยสำรองน้ำไว้ใช้ต้นฤดูฝน 3,754 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 4,588 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น77 % ของแผนฯ มากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 435 ล้าน ลบ.ม.

 รับมือนาปรังปลูกเกินแผน

แผนที่ 2.การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2559/60 แผนทั้งประเทศ 12.76 ล้านไร่ ปลูกจริงแล้ว 13.16 ล้านไร่ เกินกว่าแผน 3% ผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2560 รวมทั้งสิ้น 9.91 ล้านไร่ มากกว่าแผน 2.98 ล้านไร่ แยกเป็นในเขตชลประทานมีการทำนาปรังไปแล้ว 7.34 ล้านไร่มากกว่าแผนที่วางไว้ 3.34 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา (แผนที่วางไว้ 4 ล้านไร่) ส่วนนอกเขตชลประทานมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.57 ล้านไร่น้อยกว่าแผน 0.36 ล้านไร่

"ในเขตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตามแผนการบริหารข้าวครบวงจร ชาวนาจะต้องปลูกข้าวเพียง 4 ล้านไร่ แล้วส่วนที่เหลือจะสนับสนุนให้ปลูกพืชเสริมชนิดอื่นที่จะมีรายได้ไม่น้อยกว่าปลูกข้าว แต่ปรากฏว่าชาวนาปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เมื่อห้ามไม่ได้ ก็ต้องให้ทางคณะกรรมการบริหารข้าวครบวงจรไปปรับแผนรองรับข้าวที่ออกมาเพื่อไม่ให้เสถียรภาพราคาเสียไป"

แผนที่ 3 ปฏิบัติการฝนหลวง มีแผนปฏิบัติการ 8 เดือน(เริ่ม 3 มี.ค.60) มีเครื่องบิน 27 ลำ แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงมีนาคม -พฤษภาคม เน้นเติมน้ำในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำแม่กลอง อีสานตอนล่าง และภาคตะวันออก รวมถึงการช่วยเหลือบรรเทาหมอกควัน และไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบภัยแล้ง และ 2.ช่วงมิถุนายน-ตุลาคม เน้นการเติมน้ำต้นทุนในเขื่อนที่มีน้ำน้อยและพื้นที่การเกษตรที่ฝนทิ้งช่วง
ส่วนแผนที่ 4 การลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตร(6 มาตรการ 29 โครงการ)งบประมาณรวม 17,174.42 ล้านบาท (ครม.อนุมัติแล้วเมื่อ 24 ม.ค.60) ซึ่งแต่ละมาตรการมีผลดำเนินการที่เป็นรูปธรรมตามลำดับ อาทิ มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง 7 โครงการ (งบ 9.14 ล้านบาท) ทั้งการปลูกพืชฤดูแล้ง 12.58 ล้านไร่ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 99,313 ราย (49%) เลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน 8,870 ราย (100%)ปรับปรุงข้อมูลแผนที่พื้นที่แล้งซ้ำซาก(45%) เป็นต้น, มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 8 โครงการงบ 12,966.51 ล้านบาท อาทิ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนด้านการเกษตรให้เพียงพอ อ่างเก็บน้ำ 10 แห่ง (เสร็จแล้ว 2 แห่ง) และแก้มลิง 24 แห่ง(อยู่ระหว่างก่อสร้าง 30%) การก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 4.4 หมื่นบ่อ (เสร็จแล้ว 34,867 บ่อ) เป็นต้น

"ผมไม่เคยเบาใจเลย เพราะภัยแล้ง เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงเกษตร ถึงแม้ว่าปีนี้ภัยแล้งจะน้อยกว่าปีที่แล้ว จากการประเมินจะลดลงมากกว่า 1 ใน 3 แต่ก็ยังมีพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งอยู่ เกษตรกรเดือดร้อน ส่วนใหญ่จะอยู่นอกเขตชลประทาน เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข"

 พัฒนาอะกริ-แมปบนมือถือ

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงได้มีการพัฒนาอะกริแมป (Agri-Map) หรือแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก จากเดิมเป็นภาพแผนที่อยู่ในกระดาษ ปัจจุบันได้พัฒนาไปอยู่ในอินเตอร์เน็ต และในเร็วๆ นี้ ประมาณเดือนเมษายน กระทรวงจะพัฒนาเป็นแอพพลิเคชันอยู่บนมือถือ เพื่อใช้ตรวจสอบที่ดินในแต่ละพื้นที่ว่าควรจะปลูกอะไร เป็นที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หรือถ้าปลูกพืชชนิดนี้แล้ว มีแหล่งรับซื้ออยู่ตรงไหน เพราะถ้าปลูกแล้วไม่มีแหล่งรับซื้อ หรือแหล่งรับซื้ออยู่ไกล จะเสียค่าโลจิสติกซ์แพงก็ไม่คุ้ม จะพัฒนาให้ทันสมัย ใช้งานง่าย เพราะต้องการให้เยาวชนได้ใช้งานด้วย

"การปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่เป็นพื้นฐานที่ดี ที่จะนำไปสู่การรวมกลุ่มกันทำเป็นเกษตรแปลงใหญ่ แล้วเชื่อมโยงการยกระดับสินค้าเกษตรขึ้นจะต้องมีมาตรฐานการทำเกษตรที่ดี(GAP) สินค้าปลอดภัยทั่วโลกยอมรับ โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องจักร ผสมนวัตกรรม เพื่อต้องการให้เกษตรกรลดต้นทุนได้จริง ผลผลิตจะเพิ่มขึ้น และเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาด นี่เป็นนโยบายปฏิรูปการเกษตร เป้าหมายส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ใน 5 ปีจะต้องมี 7,000 แปลงวันนี้มองแล้วอาจทำได้เกินเป้าที่วางไว้ จากปี 2559 ดำเนินการและประสบความสำเร็จแล้ว 600 แปลง และปี 2560 ตั้งเป้าอีก 1,000 แปลง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,244 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2560