‘คืนป่าต้นน้ำน่าน’ เร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกินถูกกฎหมาย

18 มี.ค. 2560 | 13:00 น.
งาน"รักษ์ป่าน่าน" ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพฯ กองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และสนับสนุนโดยธนาคารกสิกรไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาฯ จ.น่าน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่จัดให้มีการสัมมนาถกปัญหา การเสียไปของป่าต้นน้ำ ที่จังหวัดน่าน อย่างจริงจัง โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในงานสัมมนา และทรงบรรยายเรื่อง "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย"

MP32-3244-b สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงมีพระราชดำริเรื่องการอนุรักษ์ยางนา และทรงจัดทำป่าสาธิตที่โครงการในวังสวนจิตลดา ทรงหาหาวิธีต่างๆ ในการขยายพันธุ์พืช ทั้งเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบกิ่ง เพาะเนื้อเยื่อ ซึ่งงานในส่วนนี้ เป็นต้นกำเนิดการอนุรักษ์พันธุ์พืชในทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงต้องรักษาป่าไม้ พัฒนาสภาพดิน แหล่งน้ำ พัฒนาพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช และพัฒนาความรู้ พัฒนาการศึกษา

ทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกัน พัฒนาคน ให้มีสุขภาพดี ความเป็นอยู่ที่ดี มีการศึกษามีความรู้ที่ดี และมีความสุข เพื่อให้ช่วยรักษาบ้านเมืองสืบต่อไป และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังทรงมีพระราชดำริ โปรดให้ให้พัฒนาศูนย์อนุรักษ์ อาทิ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ทำให้มีหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ที่ประชาชนสามารถเข้าไปหาความรู้ และนำไปปฏิบัติได้

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย ได้พูดถึงเป้าหมายการเสวนาครั้งนี้ คือ 1. ต้องการหายุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าน่าน และ 2.ปลุกจิตสำนึกเยาวชนให้รักป่า ส่วนปัญหาใหญ่ของป่าต้นน้ำน่าน ซึ่งเป็น 45% ของต้นน้ำของประเทศ จากผลการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางดาวเทียม พบว่า ขณะนี้การทำลายป่าน่านทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีป่าหายไป 2.5 แสนไร่ต่อปี แต่การทำลายป่าจะไม่หยุด หากรายได้ต่อคนต่อไร ของเกษตรกร ยังไม่พอต่อการดำรงชีพ ซึ่งที่ผ่านมา เกษตรกรปลูกข้าวโพด ก็เพราะมีนายทุนที่พร้อมซื้อและจ่ายให้ในราคาที่ดี

แนวทางในการแก้ไข ประการแรก คือ ต้องจัดสรรสิทธิในการใช้พื้นที่ทำกินของเกษตรกรให้จบก่อน เกษตรกรเหล่านั้นจึงจะรู้สึกสบายใจ ซึ่งเรื่องนี้ต้องตกลงพร้อมๆ กันทั้งจังหวัด จากพื้นที่ป่าสงวนที่เหลืออยู่จะทำอย่างไรให้ประชาชนหยุดตัด หยุดทำลาย ตรงนี้ตั้งเป็นตุ๊กตาขึ้นมาว่า 100%

[caption id="attachment_134688" align="aligncenter" width="500"] บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย[/caption]

ปัจจุบันเหลือแค่ 72% ส่วนที่หายไป 28% คือโล้นเเล้ว จะคืน100% คงไม่ได้เพราะคนอยู่แล้วมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ ก็ขอแค่ว่า 72% ไม่ควรเสียไปมากกว่านี้ 28% ที่เหลือ แบ่งเป็น 2 ส่วนบนสมมติฐานที่ว่า สามารถทำมาหากินได้ดีกว่าเดิม ค้าขายได้ดีกว่าเดิม ในที่สุดเราคืนมา 18% แล้วกลับไปปลูก ต้นไม้สูงๆ ที่จะยึดผิวดิน รักษาน้ำเอาไว้ ทำ 18% ให้เป็นป่า ที่มนุษย์เข้าไปทำมาหากินได้ ส่วนจะปลูกอะไรก็ต้องไปศึกษากันดู

"มันต้องมีการตกลงกันก่อน ตกลงกันพร้อมทั้งจังหวัด และเมื่อได้ข้อตกลงก็ต้องทำพร้อมกันทั้งจังหวัด 28% ที่หายไปของต้นไม้ เป็นป่าสงวนที่ทำพืชไร่ดีๆ หน่อย และมีกติกากำกับชัดเจน นายกรัฐมนตรี รับตัวเลขนี้ได้ ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของกรอบคณิตศาสตร์ บนพื้นฐานที่มีที่ดินทำกิน และเราต้องได้พื้นที่ป่าคืนมา การจัดสรรที่ดินเป็นปัญหาที่หนักหนา เราต้องพึ่งความเป็นปึกแผ่นของฝ่ายบริหาร ในระดับตำบล ชุมชน ซึ่งน่านมีผู้นำชุมชนดีๆ อยู่แล้ว"

ส่วน อีกหนึ่งโจทย์ คือ พื้นที่ที่ได้มา จะทำอย่างไร ที่จะให้มีการทำมาหากินที่ได้เงินเพียงพอ เพื่อไม่ให้คนกลับไปทำแบบเดิม รายได้ต่อไร่ต่อคนต้องสูงพอที่จะเลี้ยงชีวิตคนที่อยู่ตรงนั้น ตรงนี้จะทำให้เกิดความยั่งยืน ต้องจัดสรรที่ทำมาหากิน จัดสรรแล้ว ต้องทำมาหากินสำเร็จ

เรื่องการท่องเที่ยว เป็นอีกเรื่องที่ถูกยกขึ้นมาเป็นตัวช่วยแก้ปัญหา แต่จริงๆ รายได้จากการท่องเที่ยวกระจุกอยู่ในตัวเมือง ผลประโยชน์ยังไม่ลงไปในระดับชุมชน ตรงนี้ต้องแก้ไข ทำให้เกิดผล กระจายรายได้ไปสู่ชุมชน

นายบัณฑูร ย้ำว่า ถ้าไม่ตั้งเป้า การแก้ไขปัญหาก็ไม่ลุล่วง ตัวเลขที่จะตัดสินได้จริง คือ รายได้ต่อไร่ต่อคน ถ้าไม่สูงถึงขั้นหนึ่ง เพื่อสนองต่อการดำรงชีวิต ผลก็จะออกมาแบบเดิมๆ ก็จะออกมาให้รับประกันราคาสินค้ากันอีก ก่อนจะไปถึงจุดนั้น มีปัจจัยอีกเยอะที่ต้องดึงศาสตร์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นวนศาสตร์ อุทกศาสตร์ แต่ก่อนอื่นต้องไปแก้ปัญหาของนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ก่อน ภาครัฐต้องเข้าใจโจทย์สถานการณ์ก่อน และต่อมาต้องกล้าที่จะทดลอง การจัดการในรูปแบบใหม่ หากยังดันทุรังที่จะใช้แบบเดิม ก็จะเจอปัญหาแบบเดิม เกิดความสามารถในการเรียนรู้ทำให้พื้นที่จังหวัดน่านมีผลผลิตที่สูงพอที่จะเลี้ยงดูคนในพื้นที่ได้

"ถ้ารายได้ต่อคนไม่พอเราจะเสียป่าน่านอย่างทุกวันนี้ เราจะประชุมอีกกี่รอบก็ตาม ตอนจบก็จะกลับมาสู่จุดนี้ คือการจัดสรรที่ดิน" ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทยทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,244 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2560