ต่อยศ - เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ สืบทอดธุรกิจอนุบาลเด่นหล้า

18 มี.ค. 2560 | 02:00 น.
เรื่องของการศึกษาสำหรับพ่อแม่แล้ว พยายามเต็มที่เพื่อลูกได้เสมอ นี่คือโจทย์ที่ทำให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ อย่าง "ดร.ต่อยศ" และ "ดร.เต็มยศ" แห่งตระกูล "ปาลเดชพงศ์" ทายาท อาจารย์อารย์ ปาลเดชพงศ์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า ลุยเต็มที่ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุด ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพ่อแม่

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสพูดคุยกับ "ดร.เต็มยศ" หรือ "คุณโอม" ถึงการดำเนินธุรกิจและการบริหารงาน หลังจากที่เขาได้เข้ามาทำหน้าที่รับช่วงต่อจากคุณพ่อเมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว หลังจากพี่ชาย "ดร.ต่อยศ" หรือ "คุณอ๊อค" เข้ามาทำหน้าที่ก่อนหน้าประมาณ 5 ปี โดยได้รับมอบหมายให้บริหารโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า สาขาพระราม 5 ขณะที่พี่ชายดูแลอนุบาลเด่นหล้า สาขาเพชรเกษม

"การแบ่งงานหลักๆ คือ ผมดูที่สาขาพระราม 5 พี่ชายอยู่สาขาเพชรเกษม แต่ผมจะดูแลพิเศษเรื่องภาษาอังกฤษ และพัฒนาคุณภาพบริหาร ส่วน ดร.ต่อยศ จะดูภาพรวม และดูเรื่องการก่อสร้าง รวมไปถึงนวัตกรรมต่างๆ"

การเข้ามาบริหารช่วง 1-2 ปีแรก เป็นช่วงของการเรียนรู้งาน พร้อมทั้งปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ปกครองให้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องขององค์ความรู้ ที่ผู้ปกครองต้องการให้ลูกๆ มีองค์ความรู้รอบด้าน ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว "คุณโอม" ใช้คำว่า เด็กๆ ต้องมีพหุปัญญา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เสริมเติมแต่งปัญญาของเด็กๆ ได้ดีคือ กิจกรรมเสริม ที่ในยุคคุณพ่อจะมีเพียง 5 - 6 เรื่อง อาทิ ภาษาอังกฤษ ดนตรี บัลเล่ย์ เทควนโด แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 30 เรื่อง ที่ผู้ปกครองสามารถเลือกสรรให้เด็กได้เสริมทักษะ

"คุณโอม" เล่าว่า การทำโรงเรียนให้ดีเป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่แค่ให้กับความรู้ สอนเด็กให้เก่ง แต่ต้องเป็นโรงเรียนที่ทำให้เด็กมีความสุขด้วย ซึ่งแนวคิดนี้ เป็นแนวคิดที่คุณพ่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้ามาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นการเติมเต็มองค์ความรู้ พร้อมทักษะต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่เขาและพี่ชาย พยายามสรรหามาให้กับเด็กๆ อยู่เสมอ นอกเหนือจากหลักสูตรการเรียนที่ดี ไปจนถึงกิจกรรมเสริมทักษะ โดยจัดเวลาเรียนให้เด็กๆ มีเวลาอยู่กับกิจกรรมสร้างเสริมที่มากขึ้น

การเลือกครูผู้สอนที่ประสบการณ์ รวมไปถึงการสร้างบรรยากาศในการเรียนที่ดี และพร้อมสำหรับเด็กๆ ด้วยสถานที่เรียนที่ดี ซึ่งมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องเกือบทุกปี เมื่อถามว่า ความต่างของการบริหารงานในยุคของเขาและคุณพ่อ ต่างกันที่ตรงไหน "ดร.โอม" บอกว่า ในยุคนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท มีการนำระบบบริหารคุณภาพ (TQM : Total Quality Management) มาใช้ รวมทั้งสื่อการเรียนการสอนใหม่ๆ เช่น ไอแพด และยังสร้างหลักสูตร เพลย์กรุ๊ป ที่รับเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป มาเตรียมความพร้อมก่อเข้าเรียนพร้อมกับผู้ปกครอง พร้อมทั้งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่สาขาพระราม 5 ด้วยหลักสูตรนานาชาติ และในปีนี้ ยังได้เปิด ดีบีเอสสคูล ที่ถนนราชพฤกษ์ เป็นโรงเรียนนานาชาติเต็มรูปแบบที่รับเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยม 6 หรือ Year 13 ซึ่งจะเปิดทำการตั้งแต่พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป โดยใช้งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 45 ไร่ สำหรับโรงเรียนนานาชาติแห่งนี้

การขยายตลาดสู่โรงเรียนนานาชาติเต็มรูปแบบ เกิดจากการมองเห็นความต้องการของตลาด ที่ผู้ปกครองต้องการหล่อหลอมให้ลูกมีความพร้อม เพื่อรองรับกับความจำเป็นในการดำรงชีวิต เนื่องจากภาษาอังกฤษและทักษะความพร้อมในการทำธุรกิจ เป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ การสร้างให้เด็กมีความพร้อมตั้งแต่เริ่มต้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเรื่องของภาพรวมตลาด ยอมรับว่า อาจมีการชะลอตัวบ้าง แต่อย่างไรเสีย ผู้ปกครองก็ยังต้องการสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกเสมอ เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าวิตก

"คุณโอม" อธิบายว่า ธุรกิจโรงเรียนจะได้รับผลกระทบประมาณ 2-3 ปี หลังจากเศรษฐกิจมีปัญหา เพราะคนจะไม่อยากมีบุตร ซึ่งตอนนี้จะพบว่ามีการชะลอตัวบ้าง จากที่ผ่านมาโรงเรียนของเขาจะมีการขยายห้องเรียน ขยายที่เรียนทุกปี แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะด้วยแนวทางการบริหาร เขาไม่เคยท้อ และไม่เคยยอมแพ้...ส่วนตัวผม ไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง เราแค่พอใช้ได้ ผมพร้อมจะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา และพร้อมลุกขึ้นสู้ใหม่เสมอ ที่ผ่านมา การทำงานมีอุปสรรคเรื่อยๆ เช่น การบริหาร ผู้ปกครอง ทีม แต่ไม่มีที่ไม่ไหว

ช่วงนี้ คือ อีกหนึ่งช่วงเวลาที่ 2 พี่น้อง "ดร.อ๊อค" และ "ดร.โอม" ทุ่มสุดตัวกับการสร้างธุรกิจใหม่ ดีบีเอสสคูล ซึ่งทั้งคู่เชื่อว่า จะเดินหน้าไปได้ด้วยดี จากเสียงตอบรับของบรรดาผู้ปกครอง ที่เชื่อถือในความเป็นโรงเรียนอนุบาลที่ได้มาตรฐาน ส่วนแผนในอนาคต อาจจะได้เห็นเครือข่ายอนุบาลเด่นหล้า ขยายตลาดออกสู่ต่างจังหวัด เพราะขณะนี้มีผู้สนใจหลายหลายเข้ามานำเสนอและชักชวนให้ไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ สุพรรณ โคราช กาญจนบุรี แต่ ณ เวลา เขาทั้ง 2 ของเวลาทำให้ ทั้ง 3 สขาที่มีอยู่ปัจจุบัน เติบโตตามเป้าที่พวกเขาวางไว้ก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,244 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2560