ภาษีมูลค่าเพิ่ม : บทเรียนจากญี่ปุ่น

18 มี.ค. 2560 | 14:00 น.
MP20-3244-d เป็นความรู้เบื้องต้นว่า การจัดเก็บภาษีของรัฐก็คือการสร้างรายได้ให้กับรัฐ หนึ่งในนั้น ก็คือภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อรัฐมีรายได้น้อยลง ก็ต้องเพิ่มอัตราภาษีที่จัดเก็บ การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะเป็นภาษีที่แฝงอยู่ในทุกสินค้าและบริการ ยิ่งสมัยนี้ ร้านอาหารหลายแห่งหัวหมอ ลงราคาในเมนูราคาหนึ่ง แต่เวลาคิดเงิน กลับบวกภาษีมูลค่าเพิ่มไปอีก 7% แทนที่จะแสดงราคาในเมนูที่รวมภาษีเอาไว้แล้ว

ประเด็นการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย เป็นที่ถกเถียงกันทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็แล้วแต่นานาทัศนะครับ แต่แน่นอน การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ขึ้นอยู่กับว่าจะขึ้นน้อยหรือขึ้นมากเท่านั้นเอง

ในญี่ปุ่น เห็นได้ชัดว่า การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือในญี่ปุ่นเรียกว่า ภาษีการขาย หรือ Sale Tax(ส่วนบ้านเราเรียกว่า Value Added Tax หรือแวต) กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างรุนแรง และถึงขั้นกับทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจตามมาทีเดียว

เมื่อเดือนเมษายน 2014 รัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้การคุมบังเหียนของนายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ ได้ประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 5% เป็น 8% ครับ และตามแผนการก็คือ ในเดือนตุลาคมปี 2015 จะขึ้นต่อเนื่องไปเป็น 10%

ปรากฏว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของญี่ปุ่นในครั้งนั้น ได้ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยในทันทีหลังจากที่การเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส เรียกว่าเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หลังจากการปรับขึ้นภาษีดังกล่าว

และจากผลกระทบในครั้งนั้น ก็ทำให้นายกรัฐมนตรีอาเบะ ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งต่อไปที่จะไปอยู่ที่ 10% ทันที และเลื่อนมาอีกหลายครั้งโดยคาดว่าจะขึ้นอีกทีในปี 2019โน่นทีเดียวครับ

เพราะเหตุใด การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในญี่ปุ่น ถึงมีพลังขนาดทำให้เศรษฐกิจถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย?

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วนั้น พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญก็คือการใช้จ่ายของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น กล่าวง่ายๆก็คือ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ

อย่างเช่นสหรัฐฯนั้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด นั่นคือคำตอบว่า เพราะเหตุใด ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จึงใช้อัตราการว่างงานและดัชนีเงินเฟ้อ เป็นมิเตอร์ชี้วัดถึงสุขภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ก็เพราะว่า ถ้าคนสหรัฐฯไม่มีงานทำแล้ว การใช้จ่ายในสหรัฐฯก็จะไม่เกิดขึ้น ราคาสินค้าและบริการก็ไม่ขยับขึ้น เศรษฐกิจของสหรัฐก็ไม่เดินหน้าไปไหนครับ

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2009 อัตราการว่างงานของสหรัฐฯพุ่งขึ้นไปเกือบแตะที่ 10% แต่ขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่ราว 4.7% เท่านั้น ก็ถือว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯดีกว่าเดิมมากแล้ว

ส่วนญี่ปุ่นนั้น การใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็น 60% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดเหมือนในสหรัฐฯ คิดเป็นเกือบๆ 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด

ดังนั้น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในญี่ปุ่น จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและชัดเจน จนถึงกับทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในครั้งนั้น เพราะประชาชนญี่ปุ่นลดการใช้จ่ายลงในทันที หลังจากที่ภาษีถูกปรับขึ้น

ส่วนกรณีของประเทศไทยเรา ก็ต้องกลับมาดูครับว่าเศรษฐกิจของบ้านเราพึ่งพารายได้จากอะไรเป็นหลัก แน่นอนว่า 70% ของเราพึ่งพาการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยว

ถ้ามีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทยจริง ผลกระทบก็อาจจะไม่รุนแรงถึงกับทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยเหมือนกับญี่ปุ่นเพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้พึ่งพาการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นสัดส่วนที่มากมายเหมือนในญี่ปุ่นและอเมริกาครับ

แต่ถ้าหากขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อความเชื่อมั่นและความนิยมในตัวรัฐบาล นั่นก็ถือเป็นอีกเรื่องครับ !

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,244 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2560