ธพว.ยึดพันธกิจหลักสร้าง SME Development Bank

15 มี.ค. 2560 | 07:00 น.
ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เห็นได้จากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญจนมีมาตรการส่งเสริม และสนับสนุนออกมาหลากหลายแนวทาง จากหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับจีดีพีของเอสเอ็มอีให้เป็น 50% ของจีดีพีประเทศในปี 2564โดยหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งก็คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์"ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มแบงก์ ถึงแนวทางการดำเนินงาน และมาตรการส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอีในปี 2560

เดินตามพันธกิจ

มงคล เกริ่นนำว่า ตั้งแต่ปี 2559 ธนาคารพยายามปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองไปสู่การเป็นธนาคารเอสเอ็มอีดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ (SME Development Bank) ตามวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งธนาคารที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ไม่เพียงแต่เฉพาะการให้บริการทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านของการพัฒนา รวมถึงสนับสนุนเอสเอ็มอี และให้คำปรึกษาใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการจัดการ,ด้านการตลาด และด้านเทคนิคการผลิตควบคู่ไปด้วย พร้อมกับการเข้าไปเป็นธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) ดังนั้นจึงต้องเสริมบทบาททางด้านดังกล่าวให้ครบ เนื่องจากเมื่อปี 2558 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุชัดเจนว่าให้เอสเอ็มอีดีเวลลอปเม้นท์แบงก์ทำหน้าที่ในการVC กับผู้ประกอบการกลุ่ม Startup และกลุ่มที่ต้องการยกระดับให้เป็นเอสเอ็มอี 4.0 เป็นธนาคารของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ไม่รับเงินฝากจากประชาชนโดยทั่วไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันสิ่งที่ทำอย่างชัดเจนก็คือ การปล่อยกู้ต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท หรือหากVC ก็จะไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อราย เนื่องจากต้องการให้ความช่วยเหลือกระจายไปยังกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดย ธพว. มีการคิดอัตราดอกเบี้ยในลักษณะที่แตกต่างจากธนาคารอื่น หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5.7-5.8% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปจะคิดดอกเบี้ยที่ประมาณ 8-9% หรือแพงสุด 12%ขณะที่โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือโพลิซีโลน (Policy loan) ที่รัฐบาลดำเนินการผ่าน ธพว. ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถปล่อยกู้ได้หมดไปแล้วก็มีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4%

เล็งปล่อยกู้ 4.5 หมื่นล้านบาท

มงคล กล่าวอีกว่า ในปี 2560 การปล่อยสินเชื่อของ ธพว. โดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะแบ่งเป็น 1.โครงการสินเชื่อSMEs บัญชีเดียว 2.โครงการสินเชื่อ SMART SMEs บัญชีเดียว รวมเป็นวงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท 3.มาตรการเร่งเบิกจ่ายแฟกตอริงในวันเดียว และ4.มาตรการเร่งเบิกจ่ายแฟกตอริงคู่ค้าเอกชน รวมเป็นวงเงิน 7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(SME Transformation Loan) วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 3% ระยะเวลาใช้คืน 7 ปี โดยช่วง 2 ปีแรก จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยยังไม่ต้องชำระเงินต้น ขณะที่ยอด 5 ล้านบาทแรกไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงแต่ต้องนำเสนอแผนธุรกิจว่า ต้องการนำเงินทุนดังกล่าวไปใช้เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาธุรกิจอย่างไร และมีข้อแม้สำคัญคือห้ามนำไปรีไฟแนนซ์

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้จะเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันอังคารที่ 14 มีนาคมนี้ โดยมุ่งเน้นปล่อยกู้แก่เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านมีนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือมีความต้องการจะยกระดับธุรกิจให้ได้มาตรฐานการผลิต หรือผ่านเครื่องหมายการผลิตที่เป็นระดับสากล ซึ่งเปิดให้กู้ ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการรายดั้งเดิม หรือเกิดใหม่อย่างสตาร์ตอัพ อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายจังหวัดที่เข้าร่วม “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ” วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ที่ปล่อยกู้สูงสุดไม่เกิน10 ล้านบาทต่อราย หากรายใดที่มีศักยภาพและยังต้องการเงินทุนมากกว่าที่ได้รับจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีฯสามารถมาใช้สินเชื่อดังกล่าวเสริมเพิ่มเติมได้ โดยคาดว่าจะปล่อยเงินงวดแรกได้ภายในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งตั้งเป้าจะให้กู้เฉลี่ยรายละ 3 ล้านบาท โดยจะมีเอสเอ็มอีที่ได้รับประโยชน์กว่า 5,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ธพว.มีสินเชื่อบัญชีเดียวอยู่ 2 ตัว ได้แก่ 1.สินเชื่อนิติบุคคลที่ลูกค้าประกอบกิจการมาแล้วมากกว่า 2 ปี และแสดงเจตจำนงกับสรรพากรว่าจะทำบัญชีเดียว สามารถกู้ได้สิทธิ์ดอกเบี้ย 5% เป็นเวลา 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 5 เดือน และ 2.เน้นผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาขอให้แปรรูปเป็นนิติบุคคลในกิจการ 4 ประเภท ได้แก่ ร้านทอง ร้านขายยา ร้านแว่นตา และธุรกิจท่องเที่ยวรวมอพาร์ตเมนต์เกสต์เฮาส์บูติกโฮเต็ล ภัตตาคาร ร้านขายของที่ระลึก รถเช่า บริษัทนำเที่ยว หากเป็น 4 ประเภทนี้เราจะให้กู้ดอกเบี้ย 5% พอตั้งเป็นบริษัทก็สามารถกู้ได้เลย ไม่ต้องรอ 1-2 ปี ด้านเงินทุนหมุนเวียนจะให้แฟกตอริงดอกเบี้ย 3.99% สำหรับคู่สัญญาเป็นหน่วยงานรัฐ และหากเป็นบริษัทเอกชนให้ 4.99% ต่อปีต่อเดือนต่อวัน หรือคิดเป็นรายวัน

ยันไม่ได้เป็นคู่แข่งแบงก์พาณิชย์

มงคล กล่าวปิดท้ายว่า ธพว. ไม่ได้ต้องการแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ เพียงแต่ต้องการจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีอยู่จำนวนมาก โดยจากข้อมูลพบว่านิติบุคคลในระบบของกระทรวงพาณิชย์มีอยู่ถึง 7 แสนราย แต่ที่ปรากฏอยู่ในเครดิตบูโรทั้งที่สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ (Non-Bank) ปล่อยสินเชื่อให้มีอยู่ประมาณ 2.87 แสนรายเท่านั้น ยังมีเหลืออีกจำนวนกว่า 4 แสนรายที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

สำหรับฐานลูกค้าของ ธพว. มีอยู่ประมาณ 7 หมื่น กว่าบัญชี หรือประมาณ 6 หมื่นราย โดยหากดูฐานลูกค้าที่มีอยู่ทั้งหมดจะมีประมาณ 1.5 แสนราย รวมลูกค้าเก่าในอดีต ซึ่งมีสินเชื่อปล่อยหมุนเวียนอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยต่อปีจะปล่อยกู้อยู่ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะมาจากสินเชื่อที่ครบกำหนด และผ่อนชำระต่อเดือนประมาณ 2,000 ล้านบาท รวมถึงรับชำระลูกค้าที่มาปิดบัญชี และลูกค้ารีไฟแนนซ์ เพราะฉะนั้นหากอยู่เฉยๆลูกหนี้จะหายไป 2.5แสนราย ดังนั้นเลยต้องเพิ่มลูกค้าอีกอย่างน้อยปีละ 1 หมื่นราย เพื่อให้โตประมาณ 8% โดยใช้วิธีให้สาขาเพิ่มทางเครือข่าย อย่างสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ทำอยู่ โดยไม่รับลูกค้าวอล์กอิน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,243 วันที่ 12 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2560