2ยักษ์ปูนซีเมนต์แข่งดุ ชิงเมกะโปรเจ็กต์รัฐฯ-ปักฐานต่างแดน

14 มี.ค. 2560 | 03:00 น.
ธุรกิจปูนซีเมนต์แข่งเดือด 2 บิ๊กผู้ผลิตรายใหญ่เอสซีจี ปูนอินทรี คว้าชิ้นปลามัน ประมูลงานเมกะโปรเจ็กต์รัฐงานคอนกรีตผสมเสร็จ คาดแต่ละโครงการใช้งานโครงสร้างขนาดใหญ่ 2-3 ล้านคิวต่อโครงการ อีกทั้งโหมโรงปักฐานแข่งนอกบ้าน

แหล่งข่าวจากวงการผลิตวัสดุก่อสร้างเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า น่าจับตามองการแข่งขันในธุรกิจปูนซีเมนต์ในเวลานี้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิต 2 รายใหญ่ในประเทศ คือกลุ่มเอสซีจี และบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ผู้เล่นรายใหญ่ที่ได้เปรียบสูงสุดในเวลานี้ โดยเฉพาะการประมูลงานเมกกะโปรเจ็กต์รัฐ เช่นโครงการ ก่อสร้างสร้างรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่นและโครงการก่อสร้างสร้างมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายชลบุรี-พัทยา ที่ผู้ผลิตปูนซีเมนต์2ค่ายดังกล่าวคว้างานประมูลคอนกรีตผสมเสร็จได้สำเร็จ คาดว่าใช้คอนกรีตผสมเสร็จในปริมาณ 2-3 ล้านคิวต่อโครงการ

ในขณะที่ผู้ผลิตที่เหลือ เช่น บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน) ต่างหันมาปรับกลยุทธ์ลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากปีนี้ตัวช่วยมีเพียงงานเมกกะโปรเจ็กต์รัฐบาลเท่านั้น เนื่องจากฐานลูกค้าจากบ้านที่อยู่อาศัย สำนักงานออฟฟิศ หงอยเหงา ส่วนงานก่อสร้างต่างจังหวัดยิ่งเงียบ ขณะที่งานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกหรืออีอีซีก็ยังไม่เกิดการก่อสร้างจริง เนื่องจากนโยบายส่งเสริมในพื้นที่ดังกล่าวเพิ่งประกาศเป็นทางการ

อย่างไรก็ตามสถานการภาพรวมในครึ่งปีหลังปีนี้น่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นในภาวะที่ฐานลูกค้ารองรับการใช้ปูนซีเมนต์มีตัวเลือกน้อยส่วนใหญ่โฟกัสไปที่โครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ในขณะที่ตลาดส่งออกก็ไม่ง่าย เนื่องจากเวลานี้ผู้เล่นรายใหญ่ 2 ค่าย ต่างปักฐานการผลิตนอกบ้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะค่ายเอสซีจีที่ก่อนหน้านี้เดินสายออกไปปักฐานในประเทศเพื่อนบ้านแล้วไม่ว่าจะเป็นเมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย และล่าสุดสปป.ลาว

ส่วนนายศิวะ มหาสันทนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)หรือSCCCเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"เมื่อเร็วๆนี้ว่า ปี2560 มี4จุดที่จะต้องทำคือ

1.การที่ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงโดยมองเป็นภาพรวมทั้งภูมิภาค ไม่ได้มองเฉพาะในประเทศ เราจึงต้องหาช่องทางเข้าถึงผู้บริโภค ให้มากขึ้น 2.ต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์ แข่งขันรุนแรง ก็ต้องบริหารต้นทุนให้ดี โดยจะลงทุนด้านดิจิตอลเทคโนโลยี เพื่อมาบริหารต้นทุนให้ต่ำลง และแลเรื่องการซ่อมบำรุง 3.จะต้องพัฒนาเรื่องนวัตกรรม เพราะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าสินค้า 4.ให้ความสำคัญต่อstakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและความปลอดภัย

ส่วนในต่างประเทศจะเป็นปีที่เตรียมพร้อมโรงงานใหม่ที่กัมพูชาที่จะผลิตปูนซีเมนต์ได้ปี2561 ด้วยโดยมีขนาดกำลังผลิต1.8ล้านตัน แต่ในระหว่างนี้จะนำปูนซีเมนต์จากสระบุรีจำนวน 1.6-1.7 ล้านตันไปขายเพื่อรักษาตลาดกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดที่เราส่งออกอยู่แล้ว โดยที่กัมพูชามีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อยู่ที่5ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรงงานที่กัมพูชาผลิตได้แล้วในไตรมาสแรกปี2561 เราก็ยังต้องส่งจากโรงงานสระบุรีออกไปยังตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา ต่อไปราว 5 แสนตันซึ่งจากตรงนี้ไปจะมีต้นทุนถูกกว่าดึงจากโรงงานที่กัมปอตมาขายตรงชายแดน

สำหรับที่บังกลาเทศต้องการปรับทิศทางตลาด โดยขยับไปสู่ตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้นเจาะตลาดบน ใช้แบรนด์ “อินทรี”ยังมีโอกาสในการขายปูนผงด้วยเพราะขณะนี้มีงานโครงสร้างพื้นฐานโปรเจ็กต์ใหญ่ขึ้นโครงการทางยกระดับที่เราซัพพลายให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง และกำลังศึกษาธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จเข้าไปด้วย

ส่วนที่เวียดนามเราใช้แบรนด์ “โฮลซิม” ตามสัญญาแบรนด์โฮลซิมจะใช้ไม่ได้แล้วตลาดเวียดนามมีปูนถุงอยู่แล้วเราต้องเข้าไปดูช่องทางการจำหน่ายให้ดีขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,243 วันที่ 12 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2560