ส.ป.ก.นำร่องแจก1แสนไร่ ดีเดย์ส่งมอบมิ.ย.ให้ทำกินรูปแบบสหกรณ์

13 มี.ค. 2560 | 07:00 น.
เกษตรกรไร้ที่ดินเฮ เลขาฯ ส.ป.ก. เผยโรดแมปปี60 หลังยึดคืนที่ดินครอบครองผิดกฎหมายได้กว่า 3.1แสนไร่ เตรียมพัฒนาส่งมอบ คทช.แจกกว่า 7,000 รายรวม 1 แสนไร่ นำร่องเฟสแรก มิ.ย.นี้ ระบุ ให้ทำกินในรูปแบบสหกรณ์ สั่งเอกซเรย์รายชื่อหวั่นสวมสิทธิ์

นับแต่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 36/2559 ( 5 ก.ค.59) เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเป้าหมายยึดคืนจำนวน 438 แปลง เนื้อที่ 4.43 แสนไร่ ใน 28 จังหวัดนั้น

นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงผลการดำเนินงานตามคำสั่ง ของ คสช. เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมายข้างต้นนั้น ส.ป.ก. ได้แบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ 1. ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ ขึ้นไป เป้าหมาย 431 แปลง เนื้อที่ 4.37 แสนไร่ ใน 27 จังหวัด

2. ที่ดินที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้เกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินสิ้นสิทธิ เข้าทำประโยชน์แล้ว และครอบครองโดยบุคคลที่มิใช่รับการจัดที่ดินที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 100 ไร่ ขึ้นไป เป้าหมาย 2 แปลง เนื้อที่ 448 ไร่ ใน 2 จังหวัด และ 3. ที่ดินที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ส่งมอบแก่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วและมีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ ขึ้นไป เป้าหมาย 5 แปลง เนื้อที่ 5,908 ไร่ ใน 3 จังหวัด ซึ่งผลการดำเนินการตรวจสอบ พบว่ามีพื้นที่ยึดคืนมาได้จำนวนทั้งสิ้น 3.16 แสนไร่ ขณะที่มี 1.26 แสนไร่ ที่ต้องคืนให้ผู้ครอบครองเดิมเนื่องจากมีหลักฐานการครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน เช่น นส.3, นส.3ก

นายสมปอง กล่าวว่า เนื้อที่กว่า 3.16 แสนไร่ดังกล่าว จะนำมาพัฒนาโดยแบ่งเป็นปี 2560 จำนวน 1 แสนไร่ แบ่งออกเป็น 2 เฟส เฟสแรก เนื้อที่ 3 หมื่นไร่ จะแบ่งเป็น 5 โซนหลัก ประกอบด้วย 1.โซนที่อยู่อาศัยโซนที่อยู่อาศัยให้พื้นที่ 1 ไร่ ส่วนที่ 2 แปลงเกษตร จะให้ครอบครัวละ 5 ไร่ 3.แปลงเกษตรรวม ที่จะต้องใช้ทำประโยชน์ร่วมกัน จะตกลงกันว่าจะทำอะไร ส่วนโซนที่ 4 แหล่งน้ำทั้งเกษตรและน้ำอุปโภคและบริโภค และ 5.โซนอเนกประสงค์ อาทิ ที่ทำการสหกรณ์ อาจจะเป็นลานตากสินค้าเกษตร หรืออาจจะทำเป็นตลาด เป็นต้น คาดจะมีเกษตรกรยากไร้ไม่ต่ำกว่า 2,500 รายได้รับประโยชน์ ส่วนในเฟสที่ 2 เนื้อที่ประมาณ 7 หมื่นไร่ คาดจะพัฒนาแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ มีเกษตรกรที่จะได้รับแจกที่ดินไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย รวม 2 เฟส 7,000 กว่าราย ส่วนในปี 2561 จะพัฒนาที่ดินในส่วนที่เหลือประมาณ 2.16 แสนไร่ต่อไป

"เมื่อพัฒนาที่ดินเสร็จแล้ว จะส่งมอบให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) นำไปจัดที่ดินให้เกษตรกรผู้ยากไร้ในรูปแบบสหกรณ์การเกษตรต่อไป และจะมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินหรือ ส.ป.ก.4-01 ให้เกษตรกรแบบสัญญาเช่า ภายในเดือนมิถุนายนสำหรับเฟสแรก นอกจากนี้จะช่วย คทช.เอ็กซเรย์เพื่อให้เกษตรกรยากไร้ตัวจริงได้เข้าถึงโครงการ หรือ ไม่ใช้สิทธิซ้ำซ้อนเพราะบางรายอาจเคยได้รับการจัดสรรที่จาก ส.ป.ก.มาแล้ว"

แหล่งข่าวคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เผยหลัก 9 ข้อปฏิบัติของเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรผู้รับมอบที่ดิน อาทิ ต้องทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองห้าม ขาย หรือให้เช่าต่อ, ยินยอมทำสัญญาเช่า หรือสัญญาเช่าซื้อ,ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน จนเป็นเหตุให้ที่ดินเสื่อมสภาพ,ไม่ขุดบ่อเพื่อเกษตรกรเกิน 5% ของเนื้อที่ยกเว้นได้รับอนุญาต และไม่ปลูกสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ เพิ่มเติม ยกเว้น ยุ้งฉาง หรือสิ่งก่อสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรเท่านั้น เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,243 วันที่ 12 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2560