รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข : เมื่อความไพเราะของโลกมารวมอยู่ที่ศาลายา แม้แต่เทวดาก็อยากฟัง

12 มี.ค. 2560 | 01:00 น.
“อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์ ถึงมนุษย์ครุฑธาเทวราชจตุบาทกลางป่าพนาสิณฑ์ แม้ปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา” คำตอบของพระอภัยมณีที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ที่มีดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของสังคมฉายภาพให้เห็นถึงการพัฒนาคน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมได้อย่างลึกซึ้งและนี่คือหนึ่งมุมคิดที่ถ่ายทอดด้วยประสบการณ์จริงจากผู้ประสานศาสตร์และศิลป์ด้านการศึกษาวิชาดนตรีในประเทศไทยให้เติบโตและเป็นเลิศในเวทีสากลด้วยความภาคภูมิใจ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการและคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

หลังจากค่านิยมในเรื่องของ “งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข” 60 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต่างมุ่งเน้นในเรื่องของการซื้อความสำเร็จจากต่างชาติโดยเฉพาะภาคการศึกษาหรือเรียกง่ายๆว่า “ตามเขาว่าเก่ง ตามเองว่าโง่” เพราะเรามักจะชื่นชมความเป็นอื่นโดยไม่ชื่นชมความเป็นเรา ซึ่งช่องว่างดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ทำให้เราได้สร้างรูปแบบทางความคิด 6 ประการประกอบไปด้วย “ฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ พีเพิลแวร์ ควอลิทิแวร์ สพีริชวลแวร์” เพื่อวางโครงสร้างในการพัฒนาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็นเลิศบนกรอบพื้นฐานความเป็นมาตรฐานในระดับสากล หนึ่งในมิติสำคัญสำหรับการยกระดับการตลาดในธุรกิจบันเทิงหรือ (Entertainment Business) ในอนาคต

TP29-3243-2 “ฮาร์ดแวร์” ปัจจัยพื้นฐานหรือการสร้างบริบทโดยรอบให้น่าอยู่อาศัยและอยากเรียนรู้ โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบอาคารเรียนที่มุ่งเน้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ห้องน้ำที่สวยงามและมีความสะอาด โรงอาหารที่เพียบพร้อมไปด้วยอาหารที่เป็นประโยชน์ ไม่เพียงเท่านั้นห้องเรียนยังต้องตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างครบครัน มีห้องแล็ปที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนเดี่ยวที่นักเรียนจะได้เรียนแบบตัวต่อตัวกับครูผู้สอนในทุกสัปดาห์ รวมทั้งห้องซ้อมที่พร้อมให้นักเรียนทุกคนได้เข้ามาฝึกฝนวิชาความรู้ผ่านเสียงดนตรีอย่างมีความสุข

อย่างไรก็ดีในทุกการออกแบบเรายังแฝงนัยยะทางปรัชญาให้ผู้มาเรียนได้คิดและเรียนรู้ด้วยตัวเองเช่น สะพานกลางน้ำเราออกแบบให้ไม่มีรั้วกั้น เพราะอยากให้เด็กๆได้รู้ว่า อิสระ เสรีภาพและความรู้สึก คืออะไร และถ้าหากใครไม่ระวังจนพลัดตกลงไป นักเรียนจะได้รู้ว่า อิสระภาพมีขอบเขต ทั้งนี้ด้านพื้นของสะพานไม่ได้ตัดขอบไม้ให้เท่ากันเพราะต้องการให้ทุกคนรู้ว่า มนุษย์ไม่เท่ากัน ฉะนั้นอย่าคาดหวังและอย่าเรียกร้องว่าต้องได้เหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้นรายละเอียดบริเวณเสายังแบ่งออกเป็นเสากลมและเสาเหลี่ยม เพราะสังคมการศึกษาส่วนใหญ่สอนให้คนเหมือนกัน เมื่อคุณแตกต่างคือผิดในทันที ดังนั้นเมื่อเรายอมรับความแตกต่างได้ทุกคนจะอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพและสงบสุข

TP29-3243-3 สำหรับ “ซอฟท์แวร์” หรือเครื่องมือในการเรียนนั้นเรามุ่งใช้เทคโนโลยีและเครื่องดนตรีที่ทันสมัยมาปรับใช้เพื่อให้ผู้เรียนและผู้สอนได้มีคุรุภัณฑ์ที่ดีสำหรับการพัฒนาหลักสูตร ด้านพีเพิลแวร์เกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกันในทุกมิติ นับตั้งแต่นักเรียน อาจารย์ ผู้ปกครอง ซึ่งเรามุ่งปฏิบัติและปลูกฝังวิชาความรู้ด้านวิชาการ การสนบัสนุนให้ช่วยเหลือสังคม ตลอดจนการมีคุณธรรมในจิตใจในทุกลมหายใจ เพราะเราเชื่อว่า “ความรู้ ความถูกต้อง ความจริง ความดี ความงามและความสำเร็จ ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน” และนี่เป็นหนึ่งแนวทางที่เราต้องการสร้างให้คนเรียนดนตรีเป็นทั้งคนดีและคนเก่ง
ถัดมาในเรื่อง “มันนี่แวร์” หรือเงิน แม้ว่าเงินเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าในทุกขั้นตอนเราเริ่มด้วยเงินผลลัพธ์ที่ได้คือความไม่ยั่งยืน ฉะนั้นเราจึงเรียงลำดับสำหรับการใช้ปัจจัยนี้ไว้เป็น 5 ขั้น โดเริ่มจาก 1.ใช้หัวใจและความรู้สึกนึกคิดมากำหนดสติ 2.ใช้สมองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ความสามารถ 3.สองมือเมื่อมีกระบวนการคิดที่ดีการลงมือปฏิบัติคือรูปธรรม 4.จิตวิญญาณความแน่วแน่ที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติด้วยการตั้งใจดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “สายลมเปลี่ยนทิศ แต่สายดวงจิตไม่เคยเปลี่ยนเลย” และ 5.เงิน โดยในสิ่งนี้จะตามมาโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องคาดหวังหากคุณมี 4 ขั้นทางความคิดที่กล่าวมาข้างต้น

ต่อมาคือ “ควอลิตี้แวร์” ตนเชื่อเสมอว่า คุณภาพคือชัยชนะ โดยผู้คนส่วนใหญ่มีคุณภาพแต่มักมองข้ามและดูถูกกลับกันไม่พัฒนาและฝึกฝนตนเอง ที่สำคัญยังหันไปชื่นชมความเป็นอื่นโดยลืมความเป็นเรา ฉะนั้นเราสามารถเรียนรู้กับสิ่งที่พัฒนาแล้วมาปรับใช้ให้เกิดแนวทางใหม่ๆที่ดีและสร้างสรรค์บนกรอบพื้นฐานความเป็นตัวเราให้ได้มากที่สุด ซึ่งอะไรก็ตามที่เราหมั่นเพียรทำด้วยความมีคุณภาพ คุณภาพจะยกระดับตัวคุณ และปัจจัยสุดท้ายอย่าง “สพีริชวลแวร์” หรือจิตวิญญาณนั้น ทุกคนควรตระหนักและระลึกถึงความเป็นตัวเองอยู่เสมอ อย่าให้จิตวิญญาณดวงอื่นเข้ามาสิงในความคิดเรา ซึ่งผู้มุ่งมั่นและตั้งใจปฏิบัติเท่านั้นจะก้าวไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จ

TP29-3243-4 “การปรบมือ เสียงขอบคุณ และช่อดอกไม้ไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เราจึงยึดเอามาตรฐานมายกระดับเกียรติและความน่าเชื่อถือในวิชาชีพให้เกิดขึ้น” หลากหลายคนมองว่า “มาตรฐานเป็นเรื่องที่ไกลและสูง” แต่ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดลเรามุ่งสร้างมาตรฐานให้เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องมีผ่าน 6 ปัจจัยดังกล่าวพร้อมด้วยความเป็นมืออาชีพและศิลปินผ่านการจัดเวทีการแสดงให้กับผู้เรียนทุกคนอย่างสม่ำเสมอจนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ ซึ่งเมื่อมีประสบการณ์ นักเรียนของเราทุกคนจะมีพื้นที่ยืนในระดับสากลด้วยความภาคภูมิใจ

“Practice Makes Perfect” คณบดีท่านนี้ ไม่เคยเชื่อว่าพรสวรรค์เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่เราเชื่อเรื่องการฝึกซ้อมในทุกวันนั้นคืออัจฉริยะ ไม่เพียงเท่านั้นเรายังปลูกฝังให้นักเรียนทุกคนรู้จักกับคำว่า “ยินดี” กับผู้อื่นในทุกบริบทของสังคม ซึ่งเมื่อเรารู้จักกับคำว่ายินดีด้วยสัตย์จริงจะสามารถทำลายน้ำหอมที่เรียกว่า “อีโก้” ได้อย่างหมดจด ขณะเดียวกันการฝึกฝนตนเองให้มีความรัก ศรัทธา รับผิดชอบ มีระเบียบ ตรงต่อเวลาในวิชาชีพคือพื้นฐานของความเจริญที่ยั่งยืน และในวันนี้วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีความพร้อมในทุกด้าน เพียงแต่เราไม่ใช่ที่สุดของโลก แต่วันหนึ่งข้างหน้าคือเป้าหมายของเรา เพราะเมื่อความไพเราะของโลกมารวมอยู่ที่ศาลายา แม้แต่เทวดาก็อยากฟัง รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,243 วันที่ 12 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2560