ฟรี!!! ผมชอบ อยากให้คุณชอบด้วย

11 มี.ค. 2560 | 14:00 น.
MP29-3242-C ฟรี!!! คำที่ทรงพลังที่สุดในการทำการตลาด เวลามีคนพูดถึงคำว่าฟรี เรามักจะตื่นเต้น และมีอาการเสมอ แม้กระทั่งเห็นคำว่าฟรีในโฆษณาต่างๆ ก็แทบจะขยับตัวลุกไปรับของแจกทันที จึงไม่แปลกที่นักการตลาดมักจะนำคำที่ทรงพลังนี้มาใช้เสมอๆ เช่น ซื้อ 1 แถมอีก 1 ฟรี และพิเศษ รับตะหลิวฟรีทุกกล่อง เมื่อซื้อกระทะ (แค่นี้แม่บ้านทั่วไทยก็รีบลุกไปกดโทรศัพท์กันเป็นจำนวนมาก เชื่อสิว่าคุณเองก็เคยอยากได้ ผมก็ด้วย)

แต่ “ฟรี” ที่ผมจะเล่าให้ฟังในวันนี้เป็นผู้ก่อตั้ง Startup ที่น่าสนใจมากชื่อว่า “DifferSheet” สมุดบันทึกดิจิตอลที่ทำให้เด็กนักเรียนเขียนบันทึกสนุกๆ ได้ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะช่วยส่งเสริม และปลูกฝังให้เยาวชนเกิดการสร้างนิสัยรักในการเขียน และการอ่าน อันนี้ตอบโจทย์มากครับ เพราะผมมั่นใจว่าเด็กนักเรียนสมัยนี้เขียนน้อย พอเข้ามาถึงระดับอุดมศึกษาก็จะเจอการเขียนรายงาน การเขียนข้อสอบหรือการเขียนจดหมายธุรกิจต่างๆ พบว่าภาษาไทยของนักศึกษาในขณะนี้มีปัญหามากครับ “DifferSheet” นำหลักการของสิ่งบันเทิงมาประยุกต์ใช้เพื่อให้นักเรียนอยากเขียนบันทึกด้วยตนเอง มีความสนุกที่ได้ทำโดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าถูกบังคับ เพราะลักษณะของ GenZไม่ชอบอยู่ในกรอบ ไม่ชอบถูกบังคับ และชอบแสดงออก แต่ต้องเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบเท่านั้น

คุณฟรี-ธกรกฤษ ธนธราโภคิน จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คิดโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาตั้งแต่เรียนอยู่ และแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ ICT Student Project Conference 2013 ซึ่งในปีนั้น DifferSheetได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 (ตอนนั้นใช้ชื่อว่า Diary Social Network) ท่านผู้อ่านเคยเขียนไดอารีไหมครับ เวลากลับมาอ่านแล้วมันสนุกดีนะ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “เปลี่ยนโลกการเขียนบันทึกให้เป็นเรื่องสนุก" ทำให้หลายๆ คนอยากกลับไปเขียนบันทึกทีเดียว แต่ช้าก่อนโปรเจ็กต์นี้ไม่ได้คิดแบบธรรมดาที่ให้ดาวน์โหลดโปรแกรมหรือแอพ แต่คิดแบบ B2B หรือ Business to Business โดยมีโรงเรียนต่างๆ ตอบรับเป็นจำนวนมาก หลายๆ โรงเรียนลองทำโปรเจ็กต์ทดลองกับนักเรียนบางระดับก่อน แล้วค่อยใช้กับนักเรียนทุกระดับ ซึ่งนับว่าได้ผลดีมาก น้องๆ นักเรียนหลายคนเขียนเรื่องราวต่างๆ ได้น่าประทับใจ ที่สำคัญคือสนุก ผลงานชิ้นไหนน่าสนใจสามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.differsheet.com หรือที่ แฟนเพจhttps://www.facebook.com/DifferSheet

ผมเข้าไปดูวิดีโอสาธิตวิธีการใช้แล้วบอกเลยว่า “อยากเล่นมากกกก...(ก.ไก่ล้านตัว)” ทำไมสมัยเราไม่มีแบบนี้ ลักษณะการใช้งานเหมือน Scrapbook เขียน เลือก Template แปะ! หารูป ตัดรูป แปะ! หาวิดีโอ หาคลิป แปะ! ตกแต่ง แล้วส่ง จากนั้นคุณครูหรือผู้ดูแลสามารถเข้ามาชมเชย และให้รางวัลได้ ยิ่งทำให้เด็กๆ อยากเขียนเรื่องราวต่างๆ และยิ่งคุณครูกำหนดหัวข้อหรือให้แข่งขันกันเขียนเรื่องราวต่างๆ ยิ่งน่าสนใจ

ผมมีโอกาสไปบรรยายให้กับคณะศึกษาศาสตร์ เรื่องการเรียนการสอนแนวใหม่ในยุค Thailand4.0 บอกได้เลยว่าแบบนี้เด็กนักเรียนชอบแน่ๆ ครับ

หากวิเคราะห์ Business Model ของ Startup รายนี้พบว่าน่าศึกษา เพราะหลายคนมองว่าการทำธุรกิจจะต้องขายให้กับผู้บริโภคหรือ B2C เท่านั้น แต่คุณฟรีมองว่าหากเข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมากก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ และยิ่งเป็น GenZมีเพื่อนๆ เขียนกันเยอะๆ จะยิ่งสนุก และได้รางวัลจากคุณครูด้วย จึงคิดโมเดลแบบ B2B ขึ้น

และจากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA จะพบว่ามูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 2.24 ล้านล้านบาท เติบโตปีละมากกว่า 12% แบ่งเป็นประเภทธุรกิจขายให้กับธุรกิจหรือ B2B ถึง 1.33 ล้านล้านบาท ธุรกิจขายให้ผู้บริโภคหรือ B2C 0.51 ล้านล้านบาท และธุรกิจขายให้ภาครัฐหรือ B2G 0.4 ล้านล้านบาท การเลือก Segment ที่เป็นเด็กนักเรียน เป็นการเลือกกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้การสร้าง Community ของคนชอบการเขียน การอ่านก็ทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าหรือ CRM อีกทางหนึ่ง เป็นการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยสู่ยุค 4.0 อย่างแท้จริง

คุณค่าที่ให้กับผู้ใช้ ถ้าเราให้คุณค่าที่เป็นประโยชน์ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้ เทคโนโลยีจะทันสมัยแค่ไหนก็ตามต้องใส่ใจคุณค่า โลกทุกวันนี้มีสิ่งเร้าต่างๆ ดึงดูดเด็กๆ มากมาย เราจะทำอย่างไรให้เด็กไทยสนใจในเรื่องการพัฒนาตัวเอง คุณฟรีจึงนำคุณค่านี้ใส่ในการศึกษา เพราะเราควรพัฒนาให้การศึกษาก้าวทันโลก นี่เป็นแนวคิดของคุณฟรีที่ผมชื่นชอบ และอยากให้คุณชอบด้วยครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560