ค้าปลีกแตกโมเดลใหม่ ออนกราวด์เชื่อมโยงออนไลน์กระตุ้นแรงซื้อ

08 มี.ค. 2560 | 14:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ส่องรีเทลปี 60 ชี้เทรนด์ออนกราวด์ผนึกออนไลน์กระตุ้นนักช็อปแรง ขณะที่ผู้ประกอบการแตกย่อยโมเดลใหม่ คาดดันธุรกิจเติบโต 5-6% ในอีก 3 ปีข้างหน้า

สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโต 3.2-3.3% ใกล้เคียงกับจีดีพี สูงกว่าปีก่อนที่เติบโต 2.97% ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี 2559 แม้จะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย และเชื่อว่านับจากนี้ธุรกิจค้าปลีกจะผงกหัวขึ้นและมีการเติบโตเฉลี่ย 5-6% ในอีก 3 ปีข้างหน้าจากปัจจัยบวกรอบด้าน โดยเฉพาะนโยบายของภาครัฐที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบด้าน

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ปีนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะปรับเปลี่ยน ยังต้องใช้เวลาอีกระยะในการดำเนินการ และจะเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จะเติบโตจากสินค้าคงทน ในหมวดอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ และสินค้ากึ่งคงทน เช่น รองเท้า เสื้อผ้า ฯลฯ ที่มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าไม่ถาวร เช่น อาหาร ของใช้ต่างๆ อยู่ในช่วงฟื้นตัว จากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ลงสู่รากหญ้า โดยผู้บริโภคระดับล่างจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจในปีนี้เติบโตดีขึ้น

ขณะที่อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งจะยังมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น เพราะนักลงทุนยังเชื่อมั่นในเศรษฐกิจว่าจะเติบโตได้ดี โดยแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกจะเกิดการแตกย่อย (Fragmentation) จากเดิมที่เป็นการแบ่งกลุ่ม (Segmentation) เช่น สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม (Health & Beauty) จะแตกเป็นย่อยดรักสโตร์, เฮลท์แอนด์เพอร์ซันนอลแคร์, บิวตี้สโตร์ ร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) แตกย่อยเป็นคอนวีเนียน ฟู้ดสโตร์, คอนวีเนียน เฮลท์&บิวตี้สโตร์, ซูเปอร์ คอนวีเนียน สโตร์ เป็นต้น นอกจากนี้จะเกิดร้านค้ารูปแบบใหม่ เช่น ฮาร์ดดิสเคาน์สโตร์ ฯลฯ เช่น ดองกิโฮเต้ เป็นต้น เน้นจำหน่ายสินค้าประมาณ 700-1,000 รายการ จัดเรียงง่าย ไม่มีบริการ โดยลูกค้าจะต้องบริการตัวเอง ชำระเงินเอง เป็นต้น

อีกหนึ่งแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน คือการเชื่อมโยงการให้บริการผ่านทางออนไลน์และ ออนกราวด์เข้าด้วยกัน โดยพบว่าค้าปลีกออนกราวน์ ซึ่งมีมูลค่าราว 3.4 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็น Modern Chain Store 1 ล้านล้านบาท และ Traditional and Individual Store 2.4 ล้านล้านบาท มีการเติบโตราว 3-5% ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ มีมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท มีการเติบโต 15-20% ในปีที่ผ่านมาเริ่มมีการซินเนอร์ยีกันมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการขาย และเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า ดังนั้นในอนาคตอันใกล้จะเห็นว่าธุรกิจ E-Retailing ซึ่งมีมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท และ E Market Place and SME online จะมีการเติบโตมากขึ้นไปด้วย

"ภาพของการผนึกระหว่างออนกราวด์และออนไลน์เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่นับจากนี้ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัลบิ๊กซี เทสโก้ โลตัส จะลงมาเล่นออนไลน์มากขึ้น เกิดการรวมตัวกันมากขึ้นและกลายภาพเป็นออมนิ แชนเนลที่ชัดเจน หรือจะเรียกว่ารวมกันแบบไร้รอยต่อก็ได้"

อย่างไรก็ดีธุรกิจค้าปลีกค้าส่งเมืองไทยในปีนี้จะเห็นทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีสาขา เช่น เซ็นทรัลเดอะมอลล์ ฯลฯ ซึ่งถือครองสัดส่วนราว 32% มีการขยับตัว ขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ค้าปลีกภูธร เช่น เคเค จ.ขอนแก่น ยงสงวน จ.อุบลราชธานี ตั้งงี่สูน จ.อุดรธานี ฯลฯ ซึ่งมีสัดส่วน 12-15% จะเริ่มขยายการลงทุนไปยังจังหวัดใกล้เคียงหรือประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ส่วนค้าปลีกขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งมีสัดส่วน 55% จะยังมีการขยายตัวจากการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการใหม่ รวมถึงการสืบทอดธุรกิจของครอบครัวไม่ได้ล้มหายไป แต่จะมีอัตราไม่สูงมากนัก

ล่าสุดสมาคมได้ร่วมลงนามกับอิมแพคเอ็กซิบิชั่นแมเนจเม้นท์ และแคลเรียน อีเว้นทส์ เอเชียจัดงาน RetailEX ASEAN 2017 ขึ้นในระหว่างวันที่ 14-16 กันยายนนี้ ณ อิมแพค เมืองทองธานี บนพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร โดยภายในงานจะนำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยีด้านการค้าปลีกจากผู้ประกอบการชั้นนำทั้งในและต่างประเทศกว่า 500 แบรนด์จากกว่า 300 บริษัท พร้อมการสัมมนาเชิงวิชาการใน 4 ประเด็น อาทิ อัตราการเติบโตและแนวโน้มทางการตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของภาคอุตสาหกรรมค้าปลีก โอกาสและอุปสรรคในปี 2560 , ธุรกิจค้าปลีกในโลกอินเตอร์เน็ตในยุคดิจิตอล 4.0 เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560