เปิดใจซีอีโอปูน'อินทรี' กับดีมานด์-ซัพพลายที่เปลี่ยนไป

09 มี.ค. 2560 | 06:00 น.
ทันทีที่ภาครัฐบาลประกาศขึงขังว่าปี2560 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐจะต้องก่อสร้างได้ อีกทั้งนโยบายปลุกการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออกหรืออีอีซี ที่รัฐบาลคาดหวังไว้สูงว่าจะเกิดคลื่นลงทุนระลอกใหม่ไหลเข้าพื้นที่ นับเป็นความหวังของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในภาวะที่อุณหภูมิการแข่งขันของตลาดในภูมิภาคเพิ่มดีกรีความร้อนแรงขึ้นทุกวัน

"ฐานเศรษฐกิจ"สัมภาษณ์พิเศษ นายศิวะ มหาสันทนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด(มหาชน)หรือSCCC แบรนด์"ปูนอินทรี" เป็นฉบับแรกนับจากที่ก้าวขึ้นมาบริหารในตำแหน่งซีอีโอเต็มตัว เมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา เขาเปิดใจถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยเฉพาะดีมานด์(ความต้องการใช้)และซัพพลาย(กำลังผลิต) จนไปสู่การเดินสายเทกโอเวอร์โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในต่างประเทศ

 ต้องมองทั้งภูมิภาค

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCCC มองภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในช่วง2ปีที่ผ่านมาว่า เห็นการเปลี่ยนแปลง2ส่วนหลัก คือ 1.เรื่องดีมานด์ปูนซีเมนต์เติบโตช้ามาก บางปีติดลบ อีกทั้งดีมานด์เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากสถานะของแรงงานขาด ถ้าออกไปตลาดลูกค้าจะถามหาproductivity ฉะนั้นจะเห็นได้ชัดว่า ปูนถุงแบบสมัยก่อน จะเปลี่ยนมาเป็นปูนถุงออกมาในรูปคอนกรีต หรือปูนที่หล่อเสร็จแล้วมาจากโรงงานแล้วนำมาใช้งานได้เลย จะเห็นว่ามีทั้งหล่อเป็นแท่ง เป็นผนังสำเร็จรูป โดยพบว่าดีมานด์เปลี่ยนรูปแบบความต้องการค่อนข้างเยอะ

2.เรื่องซัพพลาย ที่เรามองกำลังผลิตเฉพาะในเมืองไทยอย่างเดียวไม่ได้อีกแล้ว ต้องมองเป็นภูมิภาค ถ้าโฟกัสมาที่กำลังผลิตรวมในประเทศเครื่องจักรเดินได้เต็มที่ จะมีขนาดกำลังผลิตรวมกันที่ราว 55ล้านตัน(ตามข่าว) ซึ่งยังไม่รวมกำลังการผลิตของผู้ผลิตที่ออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและส่งกลับมาขายในไทยด้วยบางส่วน หากถามว่ากำลังผลิตรวมในประเทศไทยจะเป็นกำลังผลิตที่ขับเคลื่อนในเรื่องดีมานด์ซัพพลายหรือไม่ ต้องตอบว่าไม่! เพราะมันมีกำลังผลิตต่างประเทศที่จะส่งมาไทยก็เลยเป็นซัพพลายที่เพิ่มขึ้น

เมื่อดีมานด์และซัพพลายเป็นแบบนี้ การแข่งขันก็จะรุนแรงมากขึ้นในขณะที่ความต้องการใช้โตช้า ดังนั้นตอนนี้ถ้าจะมาวัดว่ามีปริมาณปูนล้นตลาดอยู่เท่าไหร่ตอบยาก เพราะมันกลายเป็นภาพระดับภูมิภาคไปแล้ว มีปูนซีเมนต์จากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามา,มีกำลังผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศส่งออกไปเพื่อนบ้าน และจีนเข้าไปตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในเมียนมา สปป.ลาวและอินโดนีเซีย ยิ่งทำให้ภาพของกำลังผลิตในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเยอะ

 ปักฐานผลิตนอกบ้าน

จากภาพเหล่านี้ทำให้SCCCต้องมองหาโอกาสเติบโต ใช้ความเชี่ยวชาญที่มี ทำให้กำลังผลิตโตขึ้น โดยใช้วิธีเข้าซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว เป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการพัฒนาตลาดและการหาบุคลากร และต้องการเข้าไปถึงเงินสดให้เร็วที่สุด การที่SCCCเข้าไปซื้อกิจการก็พบว่าเป็นโอกาสที่ดีเพราะเราคุ้นเคยกันมาก่อนโดยเฉพาะโรงงานที่เวียดนามและที่ศรีลังกา เนื่องจากเป็นโรงงานที่อยู่ในกลุ่มโฮลซิม (โฮลซิม ลิมิเต็ด ผู้ผลิตปูนซีเมนต์จากสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส) ด้วยกันมาก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ SCCC อยู่ในฐานะที่มีโฮลซิมร่วมทุนด้วยก็ให้ความช่วยเหลือกันมาทั้งด้านการค้าและเรื่องโรงงาน เทคนิค ด้านการผลิต ฉะนั้นวันนี้ SCCC ไม่มีโฮลซิม แต่เราก็ไปต่อยอดจากบริษัทที่โฮลซิมปูฐานไว้แล้ว ดังนั้นจะเห็นว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม2559 จึงเป็นก้าวแรกที่ SCCC มีฐานการผลิตนอกบ้าน จากที่มีประสบการณ์ในการออกไปทำตลาดมาก่อน

[caption id="attachment_133768" align="aligncenter" width="503"] เปิดใจซีอีโอปูน เปิดใจซีอีโอปูน'อินทรี' กับดีมานด์-ซัพพลายที่เปลี่ยนไป[/caption]

นายศิวะกล่าวถึงสถานะการลงทุนในต่างประเทศว่า SCCC ใช้เงินทุนรวมในการออกไปลงทุนต่างประเทศแล้วประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนใน กัมพูชา ศรีลังกา บังกลาเทศ เวียดนาม โดยแต่ละประเทศมีขนาดกำลังผลิตปูนซีเมนต์ที่แตกต่างตามสภาพตลาด โดยเราเข้าไปซื้อกิจการโรงงานที่มีอยู่แล้วในบังคลาเทศก่อนเป็นดีลแรก นอกจากนั้นก็เป็นเวียดนาม ศรีลังกา ส่วนที่กัมพูชาเป็นการลงทุนสร้างโรงงานใหม่ ที่ไตรมาสแรกปี2561 จะเริ่มผลิตได้ รวมถึงการผลิตปูนซีเมนต์ตราลูกโลก โดยบริษัท เซเม็กซ์(ประเทศไทย) จำกัดที่ซื้อกิจการมาก่อนหน้านี้ นอกจากนั้นจะเป็นกำลังผลิตปูนซีเมนต์ที่สระบุรี(ดูตาราง)

 เหตุผลออกไปต่างประเทศ

สำหรับการออกไปต่างประเทศ มีสาเหตุจากหลายส่วนเช่น มองว่าโอกาสที่บริษัทระดับโลกที่อยู่ในประเทศเวียดนาม ศรีลังกา บังคลาเทศ ต้องการจะถอนตัวออกจากพื้นที่ เหมือนกรณีที่โฮลซิมออกไป เพื่อต้องการปรับโครงสร้างการเงิน ปรับโครงสร้างทางธุรกิจ หรือเพื่อเหตุผลอื่นๆ SCCCก็มองเห็นโอกาสตรงนี้จึงเข้าไป รวมถึงSCCC และมีเป้าหมายเข้าไปลงทุนในตลาดที่ขาดแคลนวัตถุดิบ อย่างบังคลาเทศ มีหินปูนอยู่ทางชายแดนซึ่งไกลมาก ขนส่งลำบาก ส่วนที่ศรีลังกา จะมีแหล่งวัตถุดิบเพียง 2 แหล่ง รวมถึงมองการลงทุนในประเทศที่กำลังพัฒนายังมีการใช้ปูนซีเมนต์ที่เติบโตได้7-8% ตามจีดีพีของประเทศ และSCCCสามารถนำปูนเม็ดที่ผลิตจากสระบุรีที่เหลือจากการขายในประเทศ ส่งไปยังบังกลาเทศ เวียดนาม ศรีลังกา ส่วนปูนซีเมนต์ผงก็ส่งไปศรีลังกาได้ สุดท้ายมองว่าราคาปูนซีเมนต์ใน3ประเทศยังดีกว่าราคาในประเทศไทย ดูจากที่ศรีลังกาปูนซีเมนต์ราคา110-120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน บังกลาเทศราคา70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เวียดนามปูนซีเมนต์ราคา 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เปรียบเทียบราคาในประเทศไทยอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

 เตรียมออกหุ้นกู้ 3 หมื่นล.

นอกจากนี้ภายในสัปดาห์นี้(ระหว่าง6-10มี.ค.)มีการเดินสายในประเทศเพื่อให้ข้อมูลนักลงทุนแก่ผู้ลงทุนในการออกหุ้นกู้ 2 ส่วนคือ ออกหุ้นกู้จำนวน 1.30หมื่นล้านบาท เริ่มเดินสายกับนักลงทุนตั้งแต่เดือนมีนาคม และจำหน่ายหุ้นกู้ในเดือนเมษายน เป็นหุ้นกู้สกุลเงินบาท อีกส่วนหนึ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1.70 หมื่นล้านบาท ในส่วนนี้จะจัดจำหน่ายเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยการระดมเงินทุนครั้งนี้เพื่อใช้ซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมา และเพื่อปรับโครงสร้างเงินทุนที่เหมาะสม หลังทำแผนโรดโชว์ระดมทุน SCCCจะมีสัดส่วนหนีสินต่อทุนอยู่ที่ 0.6-0.7 เท่า

สุดท้ายซีอีโอบริษัท SCCC คาดการณ์ว่าปี2560 ภาพรวมตลาดปูนซีเมนต์จะโต2-3% หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1ล้านตัน เทียบกับปีที่ผ่านมา มีกำลังผลิตในประเทศ 35 ล้านตันก็จะเพิ่มเป็น 36 ล้านตัน โดยคาดว่าจะมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่อีอีซี รวมถึงการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560