เปิดไส้ในรายได้รัฐ รสก.ทะลุเป้า-ภาษีต้องลุ้น

08 มี.ค. 2560 | 07:00 น.
ช่วง 2-3 ปีของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้ตั้งกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายและวงเงินขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เคยชี้แจงถึงเหตุผลที่ต้องจัดทำงบประมาณฯขาดดุลต่อเนื่อง ว่าแม้เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ยัง ไม่ใช่เวลาที่จะต้องลดทอนรายจ่าย เป้าหมายของรัฐบาลต้องการให้ปี 2560 เป็นปีของการวางรากฐานเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตย่างต่อเนื่อง และเป็นปีแห่งการลงทุน โดยในปีงบประมาณ 2560-2561 ได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุน เป็น 21%(ราว 5.739 แสนล้านบาท) และ 23 % (ราว6.670 แสนล้านบาท ) ตามลำดับ โดยกรอบปีงบประมาณ 2560ได้กำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลถึง5.53 แสนล้านบาท จากวงเงินรายจ่ายรวมที่ 2.923 ล้านล้านบาท และเป็นการจัดเก็บรายได้ 2.343 ล้านล้านบาท

  จัดเก็บรายได้เป้าท้าทาย

กล่าวถึงการจัดเก็บรายได้ปีงบฯนี้ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่ง แม้จะมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจที่โตขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดจีดีพีปีนี้จะโตเฉลี่ย3.5 % เทียบจาก 3.2 %ในปี 2559 อีกทั้งรัฐยังมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันหล่อลื่นเพิ่มประมาณ 9,000ล้านบาท กลุ่มภาษีบาป จากการที่กรมสรรพสามิตเตรียมปรับเพิ่มเพดานอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่คาดจะมีผลบังคับใช้หลังลงในราชกิจจานุเบกษาใน 180 วัน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเหล้าและบุหรี่ ตามฐานคำนวณใหม่ที่จะใช้ทั้งมูลค่าและปริมาณ (แล้วแต่ผลคำนวณใดได้ภาษีสูงกว่า) ซึ่งสังคมกำลังจับตากันว่าราคาใหม่จะปรับเพิ่มจากเดิมเพียงไร ทั้งนี้กรมสรรพสามิตตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ปี 2560 วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ภาระจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และประคองแรงส่งทางเศรษฐกิจ อาทิ การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เริ่มใช้ต้นปีนี้ทำให้รัฐต้องสูญรายได้ 3.2 หมื่นล้านบาท การหักลดหย่อนภาษีในมาตรการช็อปช่วยชาติ ,กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ ที่สำคัญ ปีนี้รัฐยังไม่มีตัวช่วยจากรายได้ประมูลใบอนุญาต 4G เหมือนปีงบประมาณฯก่อนหน้า ที่ทำรายได้สูงถึง 5.63 หมื่นล้านบาท อีกทั้งการจัดรายได้ของกรมศุลกากรที่น้อยลง อันเนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร และการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)

แม้การจัดเก็บรายได้ของรัฐ ในช่วง 4 เดือนปีงบประมาณ 2560 ( ต.ค.59-ก.พ.60 )จัดเก็บสุทธิ 7.24 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 1.54หมื่นล้านบาท หรือ 2.2% แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2.03 หมื่นล้านบาทหรือราว 2.7%แต่ถ้าพิเคราะห์ไส้ใน”รายได้” จะพบว่า การจัดเก็บรายได้ที่ยังเป็นบวกเพิ่ม มาจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ๆ 4.96หมื่นล้านบาท และ 6.98 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ 8.875พันล้านบาท และ 1.4 หมื่นล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าถึง 21.8% และ 25.1 %ตามลำดับ ซึ่งการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นดำเนินมาหลายปีงบประมาณแล้ว

 จัดเก็บยังต่ำกว่าเป้า

ประเด็นรายได้จากรัฐวิสาหกิจ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ( สคร.) ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจในช่วง 4 เดือน สูงกว่าประมาณการกว่า8.8 พันล้านบาท ทำให้มั่นใจว่าตลอดปีงบประมาณ รัฐวิสาหกิจจะส่งรายได้ตามเป้าหมาย ที่1.31 แสนล้านบาท ขณะที่การจัดเก็บจาก 3 กรมภาษี 4 เดือนปีงบนี้ที่7.11 แสนล้านบาท ยังต่ำกว่าประมาณการ 1.36 หมื่นล้านบาท

ขณะที่การจัดเก็บจาก 3กรมภาษี 4 เดือนปีงบนี้ที่ 7.11แสนล้านบาท ยังตํ่ากว่าประมาณการ 1.36 หมื่นล้านบาท (-1.9%)โดยเฉพาะฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต), ภาษีรถยนต์ ตํ่ากว่าเป้าหมาย7.11 พันล้านบาท (-2.8%) และ 3.24 พันล้านบาท (-9.6% )ตามลำดับ

ทั้งนี้ จากการประมวลของ“ฐานเศรษฐกิจ”ยังพบว่าช่วง 2 ปีของปีงบประมาณ 2558-2559 รายได้จาก3 กรมภาษี ต่ำกว่าประมาณการมาตลอด ถึง 2.25 แสนล้านบาท (- 9.0%) และ 1.25 แสนล้านบาท ( -5.0 %) ตามลำดับ

 ปลัดถกเพิ่มประสิทธิภาพ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ “ ว่ามั่นใจว่าสิ้นปีงบประมาณ ( ก.ย. 2560 ) รัฐบาลจะจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย 2.34 ล้านล้านบาท จากการนำส่งเพิ่มของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น ๆ(รวมธนารักษ์ ) ส่วน 3 กรมภาษีที่มีฐานรายได้ร่วม 90 %

ตนกำลังนัดถกแผนปฏิบัติที่ส่งเข้ามา กับ ผู้บริหาร 3 กรมภาษีเร็วๆนี้ เพื่อหาทางเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บให้เป็นไปตามแผนที่เสนอไว้

ส่วนการนำระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เพย์เมนต์ เชื่อมต่อระบบการเก็บภาษี ซึ่งประเมินว่าจะเพิ่มฐานรายได้ภาษีเฉลี่ยปีละ 1 แสนล้านบาท คงยังไม่เห็นผลทันทีในปีนี้

การจัดเก็บรายได้ถือเป็นโจทย์การคลังสำคัญปีนี้ โดยรัฐตั้งเป้าเพิ่มรายได้ในปีงบ2561 (ต.ค.59- ก.ย. 60 ) เติบโต 5.4 % จากฐานปีนี้ เพราะหากเป้าหมายเบี่ยงเบนแล้ว ยอมส่งผลต่อกรอบการใช้จ่ายและลงทุนตลอดการใช้คืนเงินกู้ อันเกิดจากการที่รัฐบาลปัจจุบันและก่อนหน้าจัดทำ งบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมาโดยตลอด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560