แนะหั่นภาษีหนุนหุ้นสตาร์ตอัพ

07 มี.ค. 2560 | 10:00 น.
2 กูรูฟินเทคสตาร์ตอัพไทยแลนด์ ธนา เธียรอัจฉริยะ และตฤบดี อรุณานนท์ชัย ขานรับแนวคิดตลาดหลักทรัพย์จัดตั้งกระดานเทรดหุ้นสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ-เอสเอ็มอี ผ่าน www.new.set.or.th ซึ่งจะเป็นแหล่งระดมทุนเพื่อนำมาต่อยอดนวัตกรรม แต่รูปแบบอาจจะแตกต่างจากตลาดหุ้นปัจจุบัน และรัฐบาลอาจต้องลดหย่อนภาษีเพิ่มแรงจูงใจสำหรับคนที่นำเงินมาลงทุน

 

[caption id="attachment_133397" align="aligncenter" width="503"] ธนาเธียร อัจฉริยะ ธนาเธียร อัจฉริยะ[/caption]

ปูพื้นฐานด้วย ‘โอทีซี’

นายธนาเธียร อัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ จำกัด กล่าวว่า สตาร์ตอัพไทยยังมีขนาดเล็กเกินไป คือ ทั้ง Supply และ Demand ยังไม่มาก ขณะเดียวกันคนที่มีความรู้ความเข้าใจยังจำกัดอยู่ในวงแคบมาก และยังมีประเด็นการประเมินราคาหรือมูลค่า ซึ่งอาจจะไม่สูงแต่เป็นโอกาสและมีวิธีในการะดมทุน

ดังนั้นคงต้องรอเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะกำหนดออกมา ซึ่งความพยายามของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดหุ้นสตาร์ตอัพนั้น ในแง่ของกฎเกณฑ์ที่จะเข้ามาซื้อขายในตลาดนี้ เรื่องทุนจดทะเบียนคงไม่ถึงตลาดMAI ที่กำหนดทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เพราะสตาร์ตอัพไทยยังเล็กเกินไป แต่สิ่งที่น่าจะนำมาพิจารณาประกอบ คือเรื่องสิทธิประโยชน์ สำหรับสนับสนุนสตาร์ตอัพและผู้ลงทุน

“รูปแบบของการซื้อขายนั้น หากมองข้อจำกัดด้าน Supply และ Demand ควรจัดตั้งตลาด OTC น่าจะเหมาะเปิดให้สตาร์ตอัพขึ้นทะเบียนแต่ไม่น่าจะกำหนดทุนจดทะเบียน ซึ่ง OTC เป็นเวอร์ชันง่ายๆน่าลองทำเป็นสเต็ปๆและค่อยๆพัฒนาเพราะสตาร์ตอัพไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับซีรีย์ A (รอบต้องการเงินทุน) หรือซีรีส์ B (รอบขนาดบริษัทเมื่อถึงเวลา) พอมีบ้าง แต่ที่ยังขาดซีรีส์ C (รอบเร่งการเติบโตเน้นการลงทุนตลาดต่างประเทศ)ผมจึงสนับสนุนให้ปูพื้นจาก OTC ถ้าคึกคักจึงค่อยพัฒนาอีกระดับ”

[caption id="attachment_133396" align="aligncenter" width="503"] ตฤบดี อรุณานนท์ชัย ตฤบดี อรุณานนท์ชัย[/caption]

 เพิ่มลดหย่อนดึงผู้ลงทุน

นายตฤบดี อรุณานนท์ชัย ผู้ก่อตั้งMoney Table กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานภาครัฐให้ความสนใจสตาร์ตอัพไทยอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งตลาดทุนจะทำให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นใหม่ตามแนวคิดของตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนตัวมองว่าเป็นแนวคิดที่ดีโดยมีการผ่อนปรนเงื่อนไขการจดทะเบียน เพราะในต่างประเทศเริ่มเห็นสตาร์ตอัพเริ่มทำตลาดโดยไม่มีกำไร หรือแม้ว่าจะขาดทุน แต่สิ่งสำคัญสตาร์ตอัพเหล่านี้ควรต้องผ่านมาตรฐานด้านบัญชีที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำกับเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและทำให้สตาร์ตอัพตื่นตัวในการจัดทำบัญชี

สำหรับความท้าทายคือ เมื่อจัดตั้งกระดานหุ้นสำหรับสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอีแล้ว ต้องคำนึงถึงในแง่ของการซื้อขายว่าจะมีความถี่หรือบ่อยได้เพียงใด ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ควรจะมีพันธมิตรที่เป็นโบรกเกอร์หรือนักวิเคราะห์เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูล ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ทั้งการสร้างความรู้เกี่ยวกับประเภทธุรกิจของสตาร์ตอัพ แม้จะเป็นโอกาสแต่ก็ต้องเข้าใจกฎเกณฑ์และให้ความรู้นักลงทุนโดยเป็นโอกาสของการต่อยอดนวัตกรรมไทยให้มีความหลากหลายและขยายฐานนักลงทุนในตลาดแห่งใหม่ด้วย

ในส่วนของนักลงทุนที่เลือกลงทุนในสตาร์ตอัพนั้น เท่าที่ได้สัมผัสตลาดพบว่ายังมีจำนวนนักลงทุนจำกัดหรือกระจุกตัวเฉพาะEarly Stage Startupหรือการระดมทุน Pre-Seedในระดับซีรีส์A แต่ในระดับซีรีส์Bถือว่ายังมีจำกัด เช่นเดียวกับจำนวนของสตาร์ตอัพไทยที่เกิดขึ้น ที่สำคัญ หากรัฐบาลจะส่งเสริมอีกทางคือการออกมาตรการทางภาษีเพื่อลดหย่อน(Tax Incentives)เป็นเครื่องมือสนับสนุนเพื่อดึงดูดให้สตาร์ตอัพและเม็ดเงินเข้าตลาดเพิ่มขึ้น

“ถ้าเป็นสตาร์ตอัพที่ไม่อิงผลกำไรเฉพาะคนไทยเริ่มเพิ่มขึ้น แต่ด้วยขนาดที่อาจจะยังใหญ่ไม่พอ หากเปิดให้จดทะเบียน ผมมองว่าไม่ควรกำหนดเพราะเรื่องทุนจดทะเบียนไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีคือ ยังมีค่า Goodwill ค่าหุ้นส่วนเกินแต่ตัวชี้วัดสตาร์ตอัพน่าจะวัดจำนวนผู้ใช้ (User) มากกว่า”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,241 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2560