แจงรัฐได้ผลประโยชน์มากขึ้น NCCเช่าศูนย์ฯแห่งชาติสิริกิติ์50 ปี

08 มี.ค. 2560 | 02:00 น.
กรมธนารักษ์โดยนางสาวอมรรัตน์ กลํ่าพลบ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดี ชี้แจงกรณีแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่าได้จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบและผลตอบแทน ได้ข้อสรุปว่าการลงทุนโครงการนี้ ทางราชการได้รับผลประโยชน์ดีกว่าเดิม สาระสำคัญดังนี้...

ตามหนังสือที่อ้างถึงหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ได้เสนอข่าวเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยตั้งประเด็นในเรื่องความเหมาะสมของระยะเวลาการเช่าและผลประโยชน์ตอบแทนรวมทั้งการให้สิทธิ์ต่อเอกชนรายเดิม โดยไม่ได้เปิดประมูลใหม่กรมธนารักษ์ขอชี้แจงดังนี้

 1.ประเด็นปัญหา

สัญญาการบริหารและดำเนินกิจการ ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2539 แบ่งเป็น 2 ช่วงช่วงที่ 1 เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน2539 ถึงวันที่ก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ ช่วงที่ 2 สัญญามีระยะเวลา25 ปี นับตั้งแต่วันที่ก่อตั้งอาคารแล้วเสร็จ แต่เนื่องจากคู่สัญญาไม่ก่อสร้างตามเงื่อนไขสัญญาได้ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทำให้ระยะเวลาช่วงที่ 2 ไม่สามารถเริ่มนับเวลาได้ สถานะของสัญญาจึงมีผลบังคับต่อคู่สัญญา

 2.แนวทางในการแก้ปัญหา

2.1 กรมธนารักษ์ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการตามกฎหมายและกระทรวงการคลัง 2 แนวทาง คือการยกเลิกสัญญาและการแก้ไขสัญญา ซึ่งกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่า การยกเลิกสัญญาต้องพิจารณาว่าคู่สัญญาได้ปฏิบัติผิดสัญญาหรือไม่หรือผิดข้อตกลงหรือไม่ หากมีเหตุผิดสัญญาทางราชการสามารถใช้สิทธิ์เลิกสัญญาได้ แต่หากไม่มีเหตุเลิกสัญญาเดิม โดยมีเงื่อนไขว่าทางราชการจะต้องได้รับผลประโยชน์และผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าหรือดีกว่าข้อกำหนดในสัญญาเดิม

2.2 เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดปรากฏว่า ไม่มีประเด็นให้เป็นเหตุที่บอกเลิกสัญญาได้เนื่องจากคู่สัญญาไม่อาจก่อสร้างด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ดังนั้น คณะกรรมการตามกฎหมายและกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า หากบอกเลิกสัญญาคู่สัญญาอาจฟ้องร้องและจะต้องใช้เวลาในการดำเนินคดีเป็นเวลานาน ทางราชการจะไม่ได้ผลประโยชน์เนื่องจากไม่สามารถนำทรัพย์สินออกมาประมูลหรือบริหารจัดการได้ จึงได้ให้ความเห็นชอบในการแก้ไขสัญญา

2.3 กรมธนารักษ์จึงได้แก้ไขสัญญาตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556โดยนำเสนอประเด็นการแก้ไขสัญญาต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตามนัยมาตรา43, 44 (5) และ 47 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี 2556 คณะกรรมการกำกับดูแลแล้วเห็นว่าเป็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ และเห็นด้วยกับการแก้ไข กรมธนารักษ์จึงส่งความเห็นของคณะกรรมการกำกับดูแล พร้อมทั้งร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับใหม่ที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้วไปยังรัฐมนตรีคลัง เพื่อเสนอขอความเห็นชอบต่อ ครม.

2.4 ประกาศเรื่องลักษณะการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ พ.ศ.2558 ข้อ 3 กำหนดการแก้ไขสัญญาในส่วนที่เป็นสาระสำคัญดังนี้ 1) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงลักษณะของโครงการ ขอบเขตของเนื้องาน การให้บริการหรือการดำเนินโครงการ 2) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐไม่ว่าในรูปแบบใดๆ 3) การเปลี่ยนตัวคู่สัญญาหรือการเปลี่ยนโครงสร้างองค์การ 4) การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาของสัญญา 5) การเปลี่ยนแปลงหลักประกันสัญญา6) การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการ หรือการเปลี่ยนแปลงอัตราการให้บริการ ได้มีประเด็นแก้ไขสาระสำคัญ 3 ประการ คือลักษณะโครงการ ผลประโยชน์ของรัฐ และระยะเวลาของสัญญา

 3. ผลประโยชน์ตอบแทนและระยะเวลาเช่า 50 ปี

กรมธนารักษ์จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์รูปแบบและผลตอบแทนต่างๆ ซึ่งผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการได้ข้อสรุปว่า การลงทุนโครงการนี้มีมูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่า6,000 ล้านบาท จะมีระยะเวลาคืนทุน 48 ปี 4 เดือน NPV =266.28 IRR = 6.13 มูลค่าปัจจุบัน(PV) 5,100.55 ล้านบาท และมูลค่าอนาคต (FV) 18,998.60ล้านบาท โดยทางราชการได้รับผลประโยชน์ดีกว่าและไม่น้อยกว่าเดิม อีกทั้งมีความเป็นไปได้ในการลงทุนสำหรับระยะเวลาการเช่า 50 ปี ทั้งนี้หากระยะเวลาเช่าน้อยกว่า 50 ปี ในเชิงธุรกิจโครงการไม่สามารถดำเนินโครงการได้

ประเด็นที่กรุงเทพมหานครได้กำหนดให้บริเวณศูนย์การประชุมเป็นพื้นที่ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร ตามนัยประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 23 เมษายน 2546 และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 11 กันยายน 2557 ซึ่งทำให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่สามารถก่อสร้างตามเงื่อนไขสัญญาได้นั้น กรมธนารักษ์ได้มีหนังสือถึงกรุงเทพมหานครเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเหตุผลที่มาของกรณีดังกล่าวด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,241 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2560