โปรแกรมเมอร์ขาดตลาด 1,000,000 คนไทยแลนด์ 4.0 สะดุด

08 มี.ค. 2560 | 12:00 น.
หวั่น "ไทยแลนด์ 4.0" ฝันค้าง วงการเทค ประสานเสียงไทยขาดโปรแกรมเมอร์ทั้งปริมาณและคุณภาพ ประเมินหากต้องการขับเคลื่อน "สมาร์ทเอสเอ็มอี-สมาร์ทฟาร์เมอร์-อินดัสทรี 4.0" ต้องนักพัฒนาโปรแกรม 1 ล้านคน ขณะที่ปัจจุบันมีเพียง 5 หมื่นคน แนะรัฐ จัดหลักสูตรสร้างคนพันธุ์เทคตั้งแต่ประถม

รัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนขับเคลื่อนประเทศไปสู่ ประเทศไทย 4.0 ที่ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่เส้นทางไปสู่ฝั่งฝันกลับยังเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ปัญหาใหญ่ของวงการเทคโนโลยี คือขาดแคลนบุคลากรด้านการพัฒนาโปรแกรม หรือ โปรแกรมเมอร์ ไม่ใช่เพียงแต่ปริมาณเท่านั้น แต่ยังขาดคุณภาพด้วย ซึ่งหากรัฐบาลไม่วางแนวทางที่ชัดเจน เชื่อว่าหนีไม่พ้นวังวนเดิมที่เคยเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และแอนิเมชันที่ถูกชูขึ้นมาเป็นความหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกรประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็มเอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเฟค กล่าวกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ปัญหาและอุปสรรคใหญ่ ในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลไปสู่เป้าหมาย คือ การขาดแคลนบุคลากร ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ โดยมองว่าการผลักดันให้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้นได้ ไทยจะต้องมี นักพัฒนาโปรแกรม หรือ โปรแกรมเมอร์ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน แต่ที่ผ่านมามีโปรแกรมเมอร์หลักหมื่นคน ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาลเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้มองว่าระยะสั้น ที่ทรัพยากรบุคคลจำกัด รัฐจะต้องมุ่งการนำเทคโนโลยีไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ไทยสามารถแข่งขันได้ และทุ่มทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดผลักดันให้เกิด ส่วนระยะยาวจะต้องวางรากฐานการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับประถม โดยจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่

ด้านนายศุภเสฏฐ์ ชูชัยศรี นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย กล่าวว่าปัญหาใหญ่ในการขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้นอยู่ที่บุคลากร โดยขณะนี้ไทยมีตัวเลขโปรแกรมเมอร์อยู่ราว 4-5หมื่นราย ส่วนความต้องการโปรแกรมเมอร์ในตลาดอยู่หลักแสนราย ขณะที่การศึกษา มีความสามารถการผลิตบุคลากรที่มีทักษะการเขียนโปรแกรม ทั้งวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ปีละประมาณ 6,000 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวนั้นมีบุคลากรที่มีคุณภาพและเข้าสู่อุตสาหกรรมราว 30% หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 2,000 คน

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวนั้นมองว่าไทยไม่มีความสามารถในการผลิตโปรแกรมเมอร์เป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และเพียงพอรองรับความต้องการของอุตสาหกรรม แต่เบื้องต้นภาครัฐ ควรมุ่งการพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ให้มีคุณภาพ โดยการเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย

สอดคล้องกับที่นายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี เว็บไซต์พันทิป Pantip.com ประเมินว่าขณะนี้ไทยมีจำนวนโปรแกรมเมอร์ ประมาณ 5 หมื่นคน ขณะที่ความต้องการตลาดอยู่ที่ 1แสนคน ซึ่งหากต้องการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะต้องมีปริมาณโปรแกรมเมอร์ระดับ 1 ล้านคน เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีให้กับภาคเกษตรกรรม ที่ต้องการไปสู่สมาร์ทฟาร์เมอร์ หรือ ภาคเอสเอ็มอี ที่ต้องการไปสู่เอสเอ็มอี 4.0 หรือ อิสดัสรี 4.0

ทั้งนี้มองว่าระยะยาวแล้วภาครัฐจะต้องเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยี โดยจัดให้มีหลักสูตรการเขียนโปรแกรมตั้งแต่ระดับชั้นประถม โดยมีความสำคัญ เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ

ขณะที่ รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า ภาครัฐเน้นการประชาสัมพันธ์ไทยแลนด์ 4.0 เน้นการจัดงานสตาร์ทอัพ มองไปข้างหน้า แต่ยังไม่มีเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากร วันนี้ไม่ได้ขาดแคลนเฉพาะโปรแกรมเมอร์ แต่ยังคาดแคลนซีทีโอ (Chief Technology Office) ที่มองเทคโนโลยีระดับสูง

ทั้งนี้มองว่าแนวโน้มการแก้ปัญหาระยะรัฐ กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ และส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการร่วมมือกับเอกชน เพื่อยกระดับทักษะบุคลากร และพัฒนานวัตกรรม ส่วนระยะยาวควรกำหนดให้มีหลักสูตรการพัฒนาทักษะเชิงดิจิตอล ในการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถม

ด้านนายกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่ารัฐบาล มีนโยบายยกระดับประเทศจากอุตสาหกรรมการผลิตไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล และนวัตกรรม ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่สุดท้ายมาเจอกับกำแพง เพราะขาดคนดิจิตอล ไม่มีคนทำเทคโนโลยี ไม่มีโปรดักต์ใหม่ที่ตอบโจทย์ภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ที่ต้องไปสู่ดิจิตอล

นายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Wongnaiกล่าวว่าในวงการเทค นั้นต้องการความเร็วในการพัฒนา และนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการสู่ตลาด อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีแต่ไอเดีย แต่ไม่มีบุคลากรที่แปลงไอเดีย มาเป็นโปรดักต์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ภาครัฐต้องแก้ และภาคเอกชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,241 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2560