“ธัมมชโย” ต้องกล้าสู้ รับของโจรหรือไม่? อย่า “ชิตังเม”อยู่ในอาราม

03 มี.ค. 2560 | 12:41 น.
2546879

 

 

ทางออกนอกตำรา  

โดย : บากบั่น บุญเลิศ 

“ธัมมชโย”ต้องกล้าสู้  รับของโจรหรือไม่ ?
อย่า"ชิตังเม"อยู่ในอาราม

นับวันปัญหาการจับกุม พระธัมมชโย  อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จะยิ่งบานปลายกันไปใหญ่ เรื่องทางโลกกลายเป็นเรื่องทางสงฆ์  เรื่องทางสงฆ์ กลายเป็นเรื่องทางโลก….

แทบไม่น่าเชื่อว่า คนในสังคมพุทธ ในประเทศไทยจะจำแนกแยกแยะอะไรกันไม่ออก ระหว่าง  "ความเชื่อ-ความศรัทธา" กับ "ความจริง"

ที่แทบไม่น่าเชื่ออีกอย่างคือ สำนักพระพุทธศาสนาฯซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ  เจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ควบคุมการปฏิบัติการจับกุมพระธัมมชโย  ก็ขาดการสื่อความกับสังคมในประเด็นที่นำกำลังนับพันๆนายเข้าปิดล้อมจับกุมอดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่า "ทำไมต้องจับกุม?"

ตรงนี้จึงเป็นเหตุให้สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการลุกฮือของสาวกวัดพระธรรมกายได้ง่ายแบบ"น้ำผึ้งหยดเดียว"

ความจริง….ปฏิบัติการเข้าจับกุมพระธัมมชโย เป็นภาคต่อของคดีทุจริตครั้งใหญ่วงเงินร่วม 1.2 หมื่นล้านบาท ในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจัน ของนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการฯ กับพวกรวม 11 ราย ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน   ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และมาตรา 343 ซึ่งปัจจุบันถูกศาลตัดสินจำคุก 14 ปี 24 เดือน

คดีนี้ปี 2556 ดีเอสไอจับกุมและยึดอายัดทรัพย์สินกว่า 3 พันล้านบาทจากเครือข่ายของนายศุภชัย  หลังจากมีผู้เสียหายในคดีกว่า 5.6 หมื่นราย ที่ไม่สามารถเบิกถอนเงินของตัวเองได้   พบรายชื่อผู้รับเช็ค 878 ฉบับ มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท และมีการรับบริจาคโดยไม่มีมูลหนี้รวมกว่า 2,000 ล้านบาทที่มีเช็ค 8 ฉบับ โอนเข้าบัญชีพระธัมมชโยกว่า 348 ล้านบาท จึงมีการดำเนินคดีฟอกเงินกับนายศุภชัยกับผู้ที่มีชื่อรับเช็ค และมีหมายเรียกพระลูกวัดพระธรรมกายและพระธัมมชโย เข้าให้ปากคำเพื่อชี้แจง

แต่….พระธัมมชโยปฏิเสธที่จะเข้าชี้แจง

ยื้อกันมายาวจนในปี 2559 ศาลอนุมัติออกหมายค้นวัดพระธรรมกายอีกสองครั้งคือ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน และออกหมายเรียกพระสงฆ์วัดพระธรรมกาย 5 รูป เพื่อมาสอบปากคำ และครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 13-16 ธันวาคม    ศาลอนุมัติหมายค้น 4 วัน เพื่อค้นหาพระธัมมชโยแต่ปฏิบัติการค้นวัดก็ถูกขัดขวางทุกครั้ง
มาถึงปฏิบัติการครั้งที่สาม เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์  –ปัจจุบัน เป็นการดำเนินการตามมาตรา 44 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 5/2560    ในครั้งนี้ให้ควบคุมพื้นที่วัดและโดยรอบวัดพระธรรมกาย เพื่อค้นพื้นที่และจับกุมพระธัมมชโยนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ในข้อหาสบคบและร่วมกันฟอกเงินและร่วมกันรับของโจร หลังจากที่พระลูกวัดอ้างว่า ไม่พบพระธัมมชโยเลยในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมาในอาการอาพาธสารพัดโรค และ "เบาหวานจนขาบวม"

มูลฐานความผิดในคดีนี้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 ระบุว่า “ ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระ ทำความผิดถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีด เอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกหรือ เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจรต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้ง จำทั้งปรับ”

ถ้าพระธัมมชโยบริสุทธิ์ใจ ก็จะสามารถชี้แจงและต่อสู้ในทางกฎหมายได้ เพราะพระธัมมชโยเป็นพระก็สามารถรับบริจาคเงินจากพุทธสานิกชนที่ศรัทธาได้โดยไม่รู่แหล่งที่มาของเงิน   เเต่อย่างไรก็ตาม พระธัมมชโยจะต้องอธิบายให้ได้ว่า การที่นายศุภชัยสั่งจ่ายเช็คให้กับพระธัมมชโย และแตกเช็คออกเป็นหลายส่วน  อาทิ เช่น ….

1.สั่งจ่ายเช็คให้พระธัมมชโย จำนวน 8 ฉบับ เป็นเงินทั้งสิ้น 348.78 ล้านบาท จากนั้นพระธัมมชโยได้สั่งจ่ายเงินเข้าไปยังมูลนิธิอุบาสิกาจันทร์

2.สั่งจ่ายเช็คให้กับวัดพระธรรมกาย จำนวน 6 ฉบับ เป็นเงิน 436 ล้านบาท นำเงินไปเป็นค่าก่อสร้างและสิ่งปลูกสร้างของวัด

3.จ่ายให้กับผู้ช่วยของพระธัมมชโย หรือพระปลัดวิจารณ์ เป็นเงิน 119.02 ล้านบาท ต่อมามีการถอนออกมาเป็นเงินสดทั้งหมด และปัจจุบันยังตรวจสอบไม่ได้ รวมทั้งสิ้น 903.8 ล้านบาท

4.เช็คสั่งจ่ายจากบัญชีสหกรณ์ฯ ไปเข้าบัญชีวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโยและเครือข่าย จำนวน 7 ฉบับ มียอดเงินเพิ่มขึ้นมาอีก 405 ล้านบาท

เงินบริจาคก้อนโตเหล่านี้ ท่านมีส่วนร่วมรับรู้หรือไม่อย่างไร ท่านได้ซักถามนายศุภชัยหรือไม่ว่า “เงินเหล่านี้ โยมได้แต่ใดมา”
พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่นับถือศาสนาพุทธ ย่อมเข้าใจหลัก “ธรรมะ” ที่ยึดถือเอาธรรมชาติเป็นตัวตั้งได้ดี ถ้ามีเศรษฐีบริจาคเงินให้วัด 1-10 ล้านบาท คงเป็นเรื่องปกติที่มีความศรัทธา แต่ถ้ามีคนบริจาคเป็นร้อยล้าน พันล้าน ท่านคิดว่าปกติหรือไม่….พระอาจารย์ควรตั้งคำถามหรือไม่

ถ้าพระธัมมชโยบริสุทธิ์ใจ ไปสู้กันในชั้นศาลเลย อย่าเอามวลชนมาบังหน้า

ผมจำได้ว่า ก่อนหน้านี้มีการต่อสู้กันในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.736/2557 คดีนี้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลจังหวัดธัญบุรีให้ดำเนินคดีนายศุภชัย เป็นจำเลยที่ 1 วัดพระธรรมกาย ที่ 2 และพระธัมมชโย จำเลยที่ 3 ข้อหาติดตามเรียกทรัพย์สินคืน ทุนทรัพย์เดิม 818 ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 โจทก์และจำเลยนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกันที่ศาลจังหวัดธัญบุรี

ผลการเจรจาวันนั้นคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายตกลงยอมจ่ายเงินเยียวยาครั้งที่ 1 ให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นรวม 684 ล้านบาท แลกกับการถอนฟ้องคดีจำเลยที่ 2 และ 3 พร้อมกับทำหนังสือยินยอมไม่ประสงค์ดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป

ต่อมากองทุนเฉพาะกิจลูกศิษย์วัดพระธรรมกายรวบรวมเงิน 371 ล้านบาท จ่ายเยียวยาเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2559
เห็นไหมว่า ถ้าสู้กันในทางโลก ท่านต้องมาชี้แจงก็จบ…

ออกมาจากจานบินเลยหลวงพ่อ…อย่าเอามวลชนมาเป็นเกราะกำบัง เพราะเรื่องนี้คนที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเดือดร้อนหนัก จนบัดป่านนี้ยังเบิกเงินที่เอาไปฝากไม่ได้ครับหลวงพ่อ….

อย่าพร่ำสวดแต่เพียงว่า "สาธุ ชิตังเม สาธุ ชิตังเม สาธุ ชิตังเม…(เราชนะแล้ว) "  อยู่ในอาราม…
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา / หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3241 ระหว่างวันที่ 5-8 มี.ค. 2560