ยอดใช้สิทธิ FTA ปี 59 ทะลุกว่า 5.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

02 มี.ค. 2560 | 11:45 น.
กรมการค้าต่างประเทศเผยยอดใช้สิทธิ FTA ปี 59 ทะลุกว่า 5.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.82% อาเซียนนำโด่งมีมูลค่าการใช้สิทธิสูงสุด ตามด้วยจีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย เผยชิลีมาแรงใช้สิทธิสูงสุดเกือบ 100% แนะผู้ประกอบการใช้ FTA เป็นแต้มต่อในการส่งออกสินค้า เพื่อชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยถึงผลการส่งออกสินค้าไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ในปี 2559 ว่า ไทยส่งออกภายใต้ FTA ทุกกรอบความตกลงฯ รวมมูลค่า 52,465.57 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.82% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่มีการใช้สิทธิ 50,534.97 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอัตราการใช้สิทธิคิดเป็นสัดส่วน 56.47% จากยอดการส่งออกสินค้าที่ได้สิทธิ FTA ที่มีการส่งออกรวมมูลค่า 92,907.52 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นกรอบความตกลงที่มีมูลค่าการค้าส่งออกภายใต้สิทธิ FTA สูงสุด มูลค่า 21,498.87 ล้านเหรียญสหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกรายการสินค้าได้รับสิทธิ 35,906.46 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 59.87% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการส่งออกในภาพรวมที่ตลาดอาเซียนเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทย

ส่วน FTA ที่มีการใช้สิทธิมีมูลค่าสูงรองลงมา ได้แก่ อาเซียน-จีน (ACFTA) ใช้สิทธิส่งออก 11,148.28 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิ  73.77% จากมูลค่าการส่งออกสินค้าได้รับสิทธิ 15,111.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทย-อินเดีย (TIFTA) ใช้สิทธิ 587.34 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 66.25% จากมูลค่าส่งออก 886.52 ล้านเหรียญสหรัฐ  อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ใช้สิทธิ 2,424.91 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 47.05% จากมูลค่าส่งออก 5,154.16 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ใช้สิทธิ 7,337.65 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 85.53% จากมูลค่าส่งออก 8,578.82 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ใช้สิทธิ 379.83 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 4.65% จากมูลค่าส่งออก 8,161.32 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทย-นิวซีแลนด์ (TZFTA) ใช้สิทธิ  84.67 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 7.25% จากมูลค่าส่งออก 1,168.33 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ใช้สิทธิ 6,152.11 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 81.52% จากมูลค่าส่งออก 7,547.07 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ใช้สิทธิ 202.54 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 2.87 จากมูลค่าส่งออก 7,045.38 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน-เกาหลี (AKFTA) ใช้สิทธิ 2,102.21 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 75.22% จากมูลค่าส่งออก 2,794.61 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทย-เปรู (TPCEP) ใช้สิทธิ 7.56 ล้านเหรียญสหรัฐสัดส่วน 59.66% จากมูลค่าส่งออก 12.68 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทย-ชิลี (TCFTA) ใช้สิทธิ 539.60 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 99.77% จากมูลค่าส่งออก 540.87 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางดวงพร กล่าวต่อไปว่า กรมฯ ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการหันมาใช้สิทธิ FTA ในการส่งออกให้มากขึ้น เพราะการใช้สิทธิ FTA เป็นแต้มต่อทางการค้าที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจากสินค้าจะได้รับการลดและยกเว้นภาษีนำเข้า    ณ ประเทศภาคีผู้นำเข้าปลายทาง อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ในการวางแผนบริหารจัดการต้นทุนในการผลิต และหมุนเวียน ขนส่งสินค้า และวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถแข่งขันได้กับสินค้าที่มีแหล่งผลิตจากนอกภาคีความตกลง FTA ซึ่งถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเต็มอัตราได้

สำหรับขั้นตอนการขอใช้สิทธิ ขั้นแรกต้องตรวจสอบว่าสินค้าอยู่ในรายการตามที่ประเทศภาคีผู้นำเข้าได้ลดและยกเว้นภาษีให้กับประเทศไทยหรือไม่ ขั้นตอนต่อมาต้องตรวจสอบว่าสินค้านั้น มีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าตามความตกลงฯ FTA ที่ต้องการใช้สิทธิพิเศษ แล้วยื่นเรื่องขอให้กรมฯ ตรวจและรับรองคุณสมบัติทางด้านถิ่นกำเนิดสินค้า และขั้นตอนสุดท้าย คือ ยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากกรมฯ ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ โทร 1385 และทางเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th