ดีเดย์ไล่ล่า...ผู้ต้องหาจำนำข้าว

01 มี.ค. 2560 | 08:54 น.
1485341780111

ทางออกนอกตำรา
โดย : บากบั่น บุญเลิศ


ดีเดย์ไล่ล่า ผู้ต้องหาจำนำข้าว

ไฮไลต์ของการตามล้างตามล่าความเสียหายในโครงการจำนำข้าวตันละ 1.5 หมื่นบาท ของรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าวเข้าไต่สวนแล้ว สรุปค่าเสียหายทั้งหมดที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ 1.8 แสนล้านบาทเศษ เข้าสู่โหมด"ไคลแมกซ์"

เนื่องจาก 28 กุมภาพันธ์ 2560 ถือเป็นวันสุดท้ายของคดีความที่จะหมดอายุลง นับตั้งแต่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบพบ และส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณา เเละวันที่ 28 กุมภาพันธ์ จึงเป็นวันสุดท้ายที่สำนักงานอัยการสูงสุด จะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ศาลแพ่ง ศาลอาญา เพื่อเรียกค่าความเสียของของผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการจำนำข้าวทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็น "จีทูเจี๊ยะ" การทุจริตทั้งทางตรงและทางอ้อม ในกลุ่มขบวนการยักยอกขายข้าว

ใครที่เข้าร่วมขบวนการสวมสิทธิ์ การนำข้าวผิดประเภทมาจำนำ การเวียนเทียนข้าว และกรณีข้าวหายที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ หน่วยงานราชการและผู้รับผิดชอบ รัฐบาลจะต้องหาผู้รับผิดทางแพ่งและชดใช้เงินคืน

"นายมนัส แจ่มเวหา "อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง เคยชี้แจงก่อนเกษียณอายุราชการว่า "การเอาข้าวมาจำนำ เช่น กรณีข้าวหาย ต้องมีคนรับผิดชอบในฐานะผู้ควบคุมดูแล เช่น เจ้าของโรงสี, ยุ้งฉาง แม้ว่าเป็นเอกชนแต่ก็ต้องมีการดำเนินคดี เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่ทำให้ราชการเสียหาย"

ข้อมูลในทางลับที่ออกมาจากกรมบัญชีกลางและสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่เพียงแต่น.ส.ยิ่งลักษณ์, นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์, นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ กับพวกอีก 6 คนเท่านั้นที่โดนคดี เพราะบริษัทจีน 4 แห่ง ที่ทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับไทย ได้แก่ 1.บริษัท Haikou Liangmao Cereals and Oils Trading Co., Ltd. 2.บริษัท Haikou Liangyunlai Cereals and Oils Trading Co., Ltd. 3.บริษัท Hainan Province Land Reclamation Industrial Development and Construction General Corporation และ 4.บริษัท Hainan land Reclamation Commerce and Trade Group Co., Ltd. ที่ไม่ได้รับมอบอำนาจกับหน่วยงาน COAFCO รัฐวิสาหกิจจีนที่มีหน้าที่ในการซื้อขายข้าวจีทูจีโดยตรงก็โดน

เนื่องจากข้อมูล จากการตรวจสอบฐานข้อมูลในการโอนเงินระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่พบว่าบริษัทจีน 4 แห่ง ส่งเงินเข้ามาในประเทศไทย

ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากบริษัทจีน 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท อินเตอร์ลิงค์ อิมปอร์ต แอนด์ เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด, บริษัท คอมพาวด์ อินเตอร์เทรด จำกัด, บริษัท แคปปิตอลซ์ เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท ซิมเปิ้ล เบสท์ เทรดดิ้ง จำกัด, น.ส.กรรณิกา เพชรสุวรรณ์, นายลิตร พอใจ, Mrs.Shaoyan Gong และ Mr.Guoxiong Zhou นายเฉิน ยี่ถง ที่แจ้งว่าได้ทำการส่งออกข้าวไปยังจีน ก็อยู่ในข่าย

ทำไมถึงอยู่ในข่าย เพราะมีข้อเท็จจริงว่า สัญญาซื้อขายข้าวกับบริษัท Haikou Liangyoulaiฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2556 บริษัทนี้ ได้มีหนังสือรับมอบอำนาจให้บริษัท คอมพาวด์ฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2556 ชำระเงินและรับมอบข้าว แต่ขณะนั้นบริษัท คอมพาวด์ฯ ยังไม่ได้จดทะเบียนบริษัท แต่ได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็ค 46 ฉบับ รวมวงเงิน 1,878,219,993 บาท ซึ่งในจำนวนนั้นพบว่า เป็นแคชเชียร์เช็คถึง 40 ฉบับ วงเงิน 1,868,029,241 บาท มาจากเงินในบัญชีของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด, บริษัท สิราลัย จำกัด และนายสุธี เชื่อมไธสง ซึ่งเป็นคนสนิทของนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” ผู้เกี่ยวข้องเหล่านี้ก็หนาว แม้บางคนอาจหลุดออกไปก่อนหน้านี้

"หนาว!"เพราะบุคคลเหล่านี้รวม 15-16 คน เข้าไปเกี่ยวพันกับการตีเช็คสั่งจ่ายข้าวแบบจีทูเจี๊ยะ ทั้งในนามผู้ซื้อแคชเชียร์เช็ค เจ้าของบัญชีที่นำเงินไปซื้อแคชเชียร์เช็ค ผู้แทนนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีที่นำเงินไปซื้อแคชเชียร์เช็ค รวมถึงประธาน หรือเจ้าของ หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจ ของบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ประกอบด้วย 1.บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด 2.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร 3.นางสาวรัตนา แซ่เฮง กรรมการบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด 4.นางสาวเรืองวัน เลิศศลารักษ์ กรรมการบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด 5.นางสาวสุธิดา จันทะเอ หรือสุทธิดา ผลดี กรรมการบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด 6.บริษัท สิราลัย จำกัด หรือบริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด 7.นางสาวธันยพร จันทร์สกุลพร กรรมการบริษัท สิราลัย จำกัด 8.นายสุธี เชื่อมไธสง 9.นายสมคิด เอื้อนสุภา 10.บริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด 11.นายชู หมิงเช็น กรรมการบริษัท เอลัช(ประเทศไทย) จำกัด 12.นางสาวลิอุ ยุก หมิง ไอลีน กรรมการบริษัท เอลัช(ประเทศไทย) จำกัด 13.นายชู หมิง คิน กรรมการบริษัท เอลัช(ประเทศไทย จำกัด) 14.นางสาวณิชาภา วาณิชวรานนท์ และ 15.นายประหยัด ติ๊บมุ่ง

แม้ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.อำนาจตามความในมาตรา 25 (1) ประกอบมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. มีคำสั่งให้กรมการค้าต่างประเทศ เก็บรักษาเงินก้อนดังกล่าวไว้กว่า 1.8 พันล้านบาท ขณะที่ ปปง.ได้มติยึดอายัดทรัพย์ เสี่ยเปี๋ยง และบริษัท สยามอินดิก้า ที่เงินฝากในบัญชี และที่ดินกว่า 200 แปลง รวมมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ไปแล้ว

แว่วว่า ปปง. อยู่ระหว่างตรวจสอบไปยังบริษัทที่รับซื้อข้าวต่อไปอีกทอดหนึ่ง เพื่อขยายผล และกำลังจัดการในคดีที่เกี่ยวกับจำนำข้าวอีกกว่า 10 คดี นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้บริหารร่วม 2,000 ราย ผู้ปฏิบัติในองค์กรต่างๆ อีก 3,000 ราย กลุ่มผู้ประกอบการ โรงสี โกดัง อีกจำนวนหนึ่ง ฝ่ายปฏิบัติ ที่เป็นเจ้าหน้าที่นั้น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตั้งเป็นคดีแล้ว 853 คดี ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และเอกชนจำนวนมาก

ครอบคลุมไปถึงโกดัง ยุ้งฉาง โรงสีที่เข้าไปเกี่ยวพันใน 33 จังหวัด เช่น กำแพงเพชร 100 คดี และ นครสวรรค์ 200 คดี เพื่อเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เหลือ 80%

กลุ่มนี้บางคนจะถูกไล่ฟ้องหลังจากนี้ไป เพราะยังไม่ได้นับอายุความ เนื่องจากอายุความจะเริ่มนับเมื่อรับรู้การกระทำผิด
ฝ่ายนโยบาย หลังจากนี้อาจมีคนอื่นกระทำผิดเพิ่มเติมเข้ามา โดยต้องรอให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ไปพิจารณว่า มีใครในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)บ้างที่จะโดน

คนเหล่านี้ต้องเสียวสันหลังวาบว่า ถูกเรียกค่าเสียหายในส่วนที่เหลือจากที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกฟ้องเรียกค่าชดเชยไปแล้ว 3.5 หมื่นล้านบาทหรือไม่….ทางออกของพวกเขาเหล่านั้นดูตีบตันเข้ามาทุกที


คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา หน้า6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3240 ระหว่างวันที่ 2-4 มี.ค.2560