ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเตรียมรับมือการปรับปรุงทางวิ่งฝั่งตะวันออก (บางส่วน) และทางขับ B1

27 ก.พ. 2560 | 14:06 น.
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน จัดทำแผนการบริหารจัดการด้านการจราจรทางอากาศและแผนอำนวยความสะดวกผู้โดยสารในช่วงที่มีการปรับปรุงทางวิ่งฝั่งตะวันออก (บางส่วน) และทางขับ B1 ระหว่างวันที่ 3 มีนาคม – 2 พฤษภาคม 2560 รวมระยะเวลา 60 วัน เพื่อยังคงประสิทธิภาพการให้บริการของท่าอากาศยานในช่วงเวลาดังกล่าว

วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2560) นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) พร้อมด้วยนายทินกร ชูวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และนายหลุยส์ มอเซอร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ ร่วมกันแถลงข่าวการปรับปรุงทางวิ่งฝั่งตะวันออก (บางส่วน) และทางขับ B1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา สำนักอุตุนิยมวิทยาการบิน กรมอุตุนิยม บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมการแถลงข่าวในวันนี้ด้วย ณ ห้องประชุม AOB 1 อาคารสำนักงาน ทสภ.

ภายหลังการแถลงข่าว นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า ตามที่ ทสภ. มีโครงการปรับปรุงพื้นผิวทางวิ่งฝั่งตะวันออก (บางส่วน) และทางขับ B1 ของท่าอากาศยาน เป็นระยะเวลา 60 วัน ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 3 มีนาคมนี้ จนถึงวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม 2560 นั้น โครงการดังกล่าวจำเป็นต้องปิดพื้นที่ทางวิ่งฝั่งตะวันออก ด้านทิศเหนือ (01R/19L) เป็นระยะทาง 935 เมตร และทางขับเส้น B1 เพื่อซ่อมแซมพื้นผิว โดยในส่วนของทางวิ่งจะปรับปรุงด้วยวิธีการรื้อชั้นแอสฟัลต์คอนกรีตเดิม และปูวัสดุมอดิฟาย์แอสฟัลต์คอนกรีตด้านบน และในส่วนของพื้นผิวทางขับ B1 (Taxiway) จะปรับปรุงด้วยการปูวัสดุปอร์ตแลนด์ซีเมนต์คอนกรีตด้านบน ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการปรับปรุงทางวิ่งและทางขับข้างต้น ทสภ. ยังคงให้บริการขึ้น-ลง เที่ยวบินได้ตามปกติ โดยในส่วนของทางวิ่งฝั่งตะวันออกที่มีการปิดปรับปรุงยังคงเหลือระยะทางวิ่งอีก 2,750 เมตร ซึ่งเพียงพอกับการบินขึ้นของอากาศยานเกือบทุกขนาด รวมทั้ง A380 ที่บินพิสัยไกล  ในขณะที่ทางวิ่งฝั่งตะวันตกอนุญาตให้อากาศยานทำการวิ่งขึ้นและลงได้ ตามปกติ

นายศิโรตม์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การปรับปรุงทางวิ่งและทางขับไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการเที่ยวบินและผู้โดยสาร และยังคงประสิทธิภาพในการให้บริการในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทสภ. ได้แจ้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อออกประกาศ AIP Supplement ให้นักบินและผู้เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับแผนการปรับปรุงทางวิ่งและทางขับของ ทสภ. แล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา รวมทั้งมีการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) คณะกรรมการดำเนินงานด้านธุรกิจการบิน (Airline Operators Committee : AOC) , ผู้แทนสายการบิน, กองบังคับการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้จัดเตรียมแผนไว้รองรับการให้บริการในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้ ทสภ. ยังได้ประสานความร่วมมือไปยังการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ในการเตรียมความพร้อมเป็นท่าอากาศยานสำรอง กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน และอากาศยานไม่สามารถทำการบิน ณ ทสภ. ได้ ซึ่งทุกหน่วยงานได้ให้ความร่วมมือกับ ทสภ. เป็นอย่างดี

สำหรับในส่วนของ ทสภ.เอง ได้เตรียมความพร้อมในการให้บริการทั้งภายในเขตการบินและนอกเขตการบิน โดยให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาทางวิ่งฝั่งตะวันตก ให้มีสภาพสมบูรณ์เพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา  นอกจากนี้ ทสภ. ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน เพื่อติดตามความก้าวหน้าการซ่อมแซมอย่างใกล้ชิดให้แล้วเสร็จเรียบร้อยเป็นไปตามแผนระยะเวลาการดำเนินงานที่กำหนด และจัดตั้งศูนย์ประสานงานอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร เพื่อประสานเตรียมความพร้อมรองรับ กรณีเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ทำให้เกิดความล่าช้าของเที่ยวบิน โดยศูนย์ฯ จะอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับสายการบิน ผู้โดยสาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารน้อยที่สุด รวมทั้งยังได้มีการเตรียมแผนรองรับเมื่อเกิดเหตุกาณ์ฉุกเฉินขณะปิดปรับปรุงทางวิ่งทางขับดังกล่าวไว้แล้ว อาทิ แผนการเคลื่อนย้ายอากาศยานที่เกิดอุบัติเหตุออกจากทางวิ่ง เป็นต้น

นายศิโรตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับปรุงทางวิ่งฝั่งตะวันออก (บางส่วน) และทางขับ B1 ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากที่ผ่านมา ทสภ. ได้มีการใช้งานทางวิ่งและทางขับบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นทางวิ่งหลักที่ใช้ในการบินขึ้น หรือ Takeoff  ซึ่ง ทสภ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากการเตรียมแผนรองรับต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการน้อยที่สุด โดยในบางช่วงเวลาอาจมีการจราจรทางอากาศที่หนาแน่น อย่างไรก็ตาม ทสภ. มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อรักษาสภาพทางวิ่งทางขับของ ทสภ. ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และสามารถรองรับการเจริญเติบโตในด้านการขนส่งทางอากาศได้อย่างต่อเนื่อง ในอนาคตต่อไป ทสภ. จึงขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ และขอให้ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ ทสภ. ได้ติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากมีข้อมูล ทสภ. จะได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ AOT Contact Center โทร. 1722 ตลอด 24 ชั่วโมง

นางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า “วิทยุการบินฯ ในฐานะหน่วยงานให้บริการจราจรทางอากาศของประเทศไทย ได้มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในช่วงที่มีการดำเนินการปรับปรุงทางวิ่งฝั่งตะวันออก ด้านทิศเหนือ ของ ทสภ. ซึ่งจะทำการซ่อมบำรุงพื้นผิวทางวิ่งบางส่วนเป็นระยะทาง 935 เมตร จะคงเหลือระยะการใช้งานทางวิ่งฝั่งตะวันออกเพียง 2,750 เมตร ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินที่อาจเกินขีดความสามารถการรองรับในบางช่วงเวลา  เนื่องจากเดิมซึ่งเปิดให้บริการ 2 ทางวิ่ง สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้ประมาณ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง แต่เมื่อมีการซ่อมบำรุงทางวิ่งฝั่งตะวันออก คาดว่าจะสามารถให้บริการเที่ยวบินได้ลดลงเหลือประมาณ 60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ข้อมูลตามตารางการบิน พบว่า ปริมาณเที่ยวบินในแต่ละชั่วโมงยังคงรับได้ตามขีดความสามารถดังกล่าว แต่ผลกระทบการล่าช้าอาจเกิดขึ้นได้ในบางช่วงเวลาที่ปริมาณเที่ยวบินคับคั่งและกระจุกตัว รวมถึงปัจจัยความล่าช้าอื่น ๆ”

ทั้งนี้ วิทยุการบินฯ ซึ่งดูแลการจัดการจราจรทางอากาศ มีแนวทางในการบริหารจัดการ โดยกำหนดให้ใช้ทางวิ่งฝั่งตะวันออก (หัวทางวิ่งด้านเหนือ) สำหรับอากาศยานในการวิ่งขึ้นเท่านั้น ส่วนทางวิ่งฝั่งตะวันตกจะยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติทั้งการวิ่งขึ้นและทำการบินลง ส่งผลให้สัดส่วนปริมาณเที่ยวบินที่จะใช้ทางวิ่งฝั่งตะวันตกมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งวิทยุการบินฯ ได้ใช้หลักการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ หรือ Air Traffic Flow Management มาใช้บริหารจัดการปริมาณเที่ยวบินในแต่ละช่วงเวลาให้เหมาะสมกับความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของ ทสภ. โดยวิทยุการบินฯ ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว รวมถึงได้มีการแจ้งข้อมูลล่วงหน้าให้สายการบินทราบถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และขอความร่วมมือให้มีการปรับเวลาการบิน รวมทั้งปรับปริมาณเที่ยวบิน เพื่อเป็นการลดการสะสมของเครื่องบินที่จะส่งผลให้เกิดความล่าช้า และลดความเสี่ยงในการทำการบินไปลงที่สนามบินสำรองหรือสนามบินอื่น อีกทั้งได้มีการกำหนดมาตรการแนวทางในการปฏิบัติงานในช่วงที่มีการซ่อมบำรุงทางวิ่ง เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความสอดคล้องกัน รวมถึงเตรียมความพร้อมรองรับกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศเพิ่ม ในช่วงเวลาที่มีสภาพการจราจรคับคั่ง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของความล่าช้าในช่วงเวลาดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ เนื่องมาจากปริมาณการจราจรทางอากาศที่เกินขีดความสามารถในการรองรับในบางช่วงเวลา ในขณะที่การให้บริการจราจรทางอากาศมีข้อจำกัด อีกทั้งยังมีปัจจัยความล่าช้าอื่น ๆ   ได้แก่ การล่าช้าสะสมมาจากกรณีสถานการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น เช่น สภาพอากาศแปรปรวน ทางวิ่งชำรุดเสียหายฉุกเฉิน ตลอดจนเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับการใช้งานทางวิ่ง ทั้งนี้ ขอให้ผู้โดยสารเผื่อเวลาในการเดินทางมายังสนามบิน พร้อมทั้งรับฟังข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์จากสายการบินอย่างใกล้ชิด วิทยุการบินฯ จะดำเนินการบริหารจัดการจราจรทางอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยลดปัญหาความล่าช้า  โดยยังคงคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด

ด้าน นายหลุยส์ มอเซอร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพ หรือ AOC กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของสายการบินในช่วงที่ ทสภ. มีการปรับปรุงทางวิ่งว่า ในการปิดซ่อมครั้งนี้ ถือเป็นความจำเป็นและมีความสำคัญในด้านความปลอดภัยต่อการปฏิบัติการการบินเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปิดซ่อมนี้จะมีผลกระทบที่สำคัญต่อสายการบินพาณิชย์ ทั้งในด้านของขีดจำกัดของน้ำหนักรวมบรรทุกของอากาศยาน (commercial-Pay load) ซึ่งสายการบินต่าง ๆ จำเป็นจะต้องเลือกบริหารจัดการเพื่อลดน้ำหนักลง ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถทำการบินขึ้นจาก runway ที่สั้นได้ ผลกระทบอีกส่วนที่มีความสำคัญอย่างมากคือ เนื่องจากในการปิดซ่อม runway ครั้งนี้ จะทำให้เกิดการจราจรทางอากาศที่หนาแน่นขึ้น ทั้งนี้ เนื่องมาจากเครื่องบินจะต้องมีการ hold (รอ) บนน่านฟ้าจนกว่าหอบังคับการจะบริหารลำดับให้เครื่องแต่ละลำที่รออยู่นั้นทำการลงจอดได้ ในส่วนนี้จะมีผลให้สายการบินต่าง ๆ จำเป็นต้องสำรองนำมันเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับการบินวนบนอากาศในระหว่างรอการลงจอด และแน่นอนว่าจะมีผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมา คือ เที่ยวบินลงจอดล่าช้า ผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง หรือต่อเครื่องในเที่ยวบินถัดไปไม่ทัน ซึ่งเป็นการกระทบต่อความไม่สะดวกอื่น ๆ ของผู้ โดยสารโดยตรงในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์นั้น เราจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งก็คือการที่เครื่องบินมีเชื้อเพลิงไม่พอและต้องลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินใกล้เคียงได้กำหนดให้ สนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินสำรองหลัก และทางท่าอู่ตะเภาได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ในการเตรียมความพร้อมของทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ และดูแลในเรื่องนี้โดยตรงนั้น เราได้มีการประชุมและหารือร่วมกันของทุกฝ่ายเพื่อที่จะลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด ซึ่งในครั้งนี้มีการประเมิณสถานการณ์ว่าจะใกล้เคียงกับการรับมือสถานการณ์การปิดซ่อมแซมทางวิ่ง (runway) เมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้การบริหารจัดการการจราจรทางอากาศเป็นไปได้ยากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณในความร่วมมือ และการประสานงานอย่างดีของทุกฝ่าย ในการทุ่มเทการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อพร้อมรับกับผลกระทบและสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น