1 ปีประชาคมอาเซียน คน : ปัจจัยท้าทายร่วม

27 ก.พ. 2560 | 09:00 น.
การประชุมสื่อมวลชนอาเซียน (Reporting ASEAN Media Forum) จัดขึ้นโดยมูลนิธิอาเซียน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Reporting ASEAN ซึ่งมีไฮไลต์ของงานที่การเสวนาโดยวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย รวมถึงสื่อมวลชน เพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะและนำเสนอมิติใหม่ในการรายงานเรื่องราวของอาเซียนให้สื่อมวลชนได้คิดวิเคราะห์ถึงประเด็นต่างๆของอาเซียน เพื่อสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในเหตุการณ์และปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอาเซียนอย่างถ่องแท้ ซึ่งจะถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของประชาคมอาเซียน

  มั่นคงท่ามกลางปัจจัยลบ

รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรีผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ประชาคมอาเซียนถือกำเนิดอย่างเป็นทางการ ก็ได้เห็นพัฒนาการของอาเซียนในด้านต่างๆทั้งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงการค้า-การลงทุน การค้าภาคบริการ รวมทั้งความร่วมมือด้านแรงงาน พัฒนาการของอาเซียนเกิดขึ้นรายล้อม 3 เสาหลักอาเซียน ซึ่งได้แก่ เสาแรก ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) ที่มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจและการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้

หลายปีที่ผ่านมาตรการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็น 0% ก็ทำได้สำเร็จ เสา 2 คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community-ASC) ที่มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและมั่นคง ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสา 3 คือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) ที่มุ่งให้ประชาชนของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี มีความร่วมมือทางด้านการศึกษา

“ส่วนเมื่อปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการที่สหราชอาณาจักรได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) หรือที่เรียกว่า Brexit ปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่ขยายตัวมากขึ้น การแข่งขันทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความตกลงการค้าเสรีอาเซียนและสหภาพยุโรปที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณที่ท้าทายสำหรับอาเซียนว่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โลกกำลังจะกลับหัว ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆกำลังพบกับความท้าทายในหลายๆเรื่อง แต่อาเซียนกำลังจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้างกรรมการสมาคมอาเซียน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่เข้ารับตำแหน่งเป็นกรรมการสมาคมอาเซียนได้เห็นอาเซียนทั้งสิ่งที่ดีที่สุด คือ การเปิดเขตการค้าเสรีหรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และที่แย่ที่สุด คือวิกฤตเศรษฐกิจในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อเดือนกันยายน ปี 2540 และยังได้เห็นการเติบโตของอาเซียนตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนตัวมองว่าประชาคมอาเซียนไม่เหมือนกับสหประชาชาติ สหภาพยุโรป หรือสหภาพอื่นๆ เพราะอาเซียนมีความหลากหลายในความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละ 10 ประเทศ แต่ก็มีเป้าหมายร่วมกันคือ วิสัยทัศน์อาเซียน 2020

 “คน” ยังเป็นปัญหาใหญ่

อาเซียนได้ขยายความร่วมมืออย่างเข้มข้นและกว้างขวาง โดยมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1. มีบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ที่เน้นการปรับนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนที่มีต่อประเทศภายนอกภูมิภาค เช่น การจัดทำเขตการค้าเสรี และการสร้างเครือข่ายด้านการผลิตและจำหน่าย เป็นต้น เสมือนหนึ่งรวมเป็นประเทศเดียวกัน 2. การเดินทางระหว่างประเทศเพื่อนบ้านง่ายขึ้น เนื่องจากมีที่ปรึกษาประจำสถานทูตในแต่ละประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเกี่ยวเนื่องกับพาสปอร์ต แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะมี เช่น กรณีพาสปอร์ตสูญหาย สามารถขอทำพาสปอร์ตใหม่จากสถานเอกอัครราชทูตในประเทศที่ใกล้เคียงที่สุดได้ ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มอาเซียนที่มีสนธิสัญญาทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนในประเทศอาเซียนเดินทางติดต่อ ไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นแค่มีพาสปอร์ตก็สามารถเดินทางเข้าประเทศนั้นได้สบาย แต่หากอยู่นานกว่าที่กำหนดก็ต้องติดต่อขอทำวีซ่า 3. ความร่วมมือด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นปัญหาที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้น อาเซียนจึงจัดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านอาชญากรรมข้ามชาติปีละหนึ่งครั้ง ซึ่งเมื่อปลายปี 2559 จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในประเด็นสำคัญได้แก่ การต่อต้านการก่อการร้าย การค้ามนุษย์ อาชญากรรมไซเบอร์ อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ การฟอกเงิน การค้าอาวุธ และการค้ายาเสพติดผิดกฎหมาย เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนยังมองไปถึงความท้าทายของภูมิภาคอาเซียนในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งหนึ่งในความท้าทายจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับ “คน” ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานคนที่จะมีมากขึ้น และอีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ ปัญหาของชาวโรฮิงญาที่ปัจจุบันบานปลายกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ กระทั่งเมียนมาระงับการส่งแรงงานไปยังประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายเกี่ยวกับการแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันและกับประเทศนอกอาเซียน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน โดยทุกประเทศต้องร่วมมือกัน เช่น การสนับสนุนให้สปป.ลาว สามารถผลิตและส่งออกพลังงานไฟฟ้าเป็นสินค้าออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย ซึ่งทำอยู่แล้ว และกำลังขยายตลาดพลังงานไฟฟ้าไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560