ไขกลยุทธ์ 'ทีเส็บ'ปี 60 ปั๊มรายได้ตลาดไมซ์ 1.5 แสนล้าน

24 ก.พ. 2560 | 05:00 น.
การขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ ในปีงบประมาณ2560 ของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือทีเส็บที่วางเป้าหมายในการสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1.55 แสนล้านบาท และเพิ่มจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์กว่า 27.1 ล้านคนทั้งจากนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศและกลุ่มไมซ์ในประเทศหรือ โดเมสติกไมซ์
จุดโฟกัสหลักคือ การยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืน และการส่งเสริมงานไมซ์ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย กระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย และสร้างนวัตกรรม รับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล

 2 ยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพไมซ์

นี่จึงนำไปสู่โรดแมปพัฒนาศักยภาพธุรกิจไมซ์ที่เกิดขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจไมซ์ โดยจะเน้นดำเนินการใน 2 ยุทธศาสตร์หลัก โดยยุทธศาสตร์แรก คือ “การพัฒนาศักยภาพบุคลากรไมซ์” ที่จะผลักดันให้เกิดการศึกษาไมซ์เพื่อภาคธุรกิจ (Trade Education )โดยเน้นให้ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดอบรมหลักสูตรด้านไมซ์นานาชาติ เพื่อตอกย้ำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาด้านไมซ์ของอาเซียน การดำเนินการเรื่องไมซ์อคาเดมี่ สำหรับสถาบันศึกษาและเยาวชน โดยทีเส็บได้พัฒนาหลักสูตรใหม่ภายใต้วิชา Event 101 เป็นหลักสูตรแรกของไทย เพื่อใช้สอนในสถาบันการศึกษาที่เป็นพันธมิตร และบรรจุไว้ในอุดมศึกษา กว่า 60 แห่ง และอาชีวะ 47 แห่ง

ทั้งยังจะผลักดันการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สาขาอาชีพภาคบริการ สาขาช่างไฟฟ้าสำหรับกลุ่มไมซ์ สร้างมาตรฐานฝีมือแรงงานไมซ์แห่งแรกของโลกสำหรับรายบุคคล ซึ่งจะประกาศใช้ภายในปีนี้

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ “การยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมไมซ์ครบวงจร”เน้นการดำเนินงานด้านมาตรฐานสากล (MICE Standard ) ซึ่งมีแผนขยายการรองรับมาตรฐานสถานที่จัดงานในประเทศไทย ประเภทห้องประชุม ให้มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองไมซ์ซิตีทั้ง 5 แห่งและเมืองที่มีศักยภาพในการจัดงานไมซ์ตามคลัสเตอร์ต่างๆของรัฐบาล และยังเป็นปีที่เริ่มการประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงานในประเทศไทยประเภทสถานที่แสดงสินค้าและนิทรรศการ(Exhibition Venue)พร้อมดำเนินการจัดทำมาตรฐานประเภทสถานที่จัดงานพิเศษ(Special Event Venue)

นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานด้านการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืน ที่มุ่งพัฒนาหลักสูตร Sustainable Events Professional Certificate (SEPC)เพื่อให้ผู้ประกอบการไมซ์คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งทีเส็บตั้งเป้าอบรมครั้งแรกในไทยในปี 2561 พร้อมต่อยอดโครงการFarm To Functions ส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์ ในการจัดซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรง และการจัดงานแบบไร้คาร์บอนเป็นต้น

 ผุดASEAN MICE Institute

นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการทีเส็บ ย้ำว่า จาก 2 ยุทธศาสตร์โรดแมปพัฒนาศักยภาพธุรกิจไมซ์ จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจไมซ์ไทยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไมซ์ในระดับภูมิภาค ตามเป้าหมาย

โดยมีแผนจะตั้ง “ASEAN MICE Institute” เพื่อเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ กำหนด รับรองมาตรฐานต่างๆรวมถึงออกแบบหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการไมซ์ทั้งระดับบุคคล และองค์กรให้มีศักยภาพที่แข่งขันได้ในระดับนานาชาติต่อไป ซึ่งตอบโจทย์กลยุทธ์ของทีเส็บ และสามารถดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ จำนวน 1.1 ล้านคน สร้างรายได้ 1.01 แสนล้านบาท

อีกทั้งด้วยความที่รัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน 10 ประเทศมีมติเห็นชอบให้ทีเส็บ เป็นผู้นำในการจัดทำมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ในอาเซียน ไทยก็จะเป็นเจ้าภาพการจัดอบรมครั้ง1 ระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคมนี้ เพื่อให้ทุกประเทศในอาเซียนได้รับทราบวิธีการตรวจประเมินตามมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ของอาเซียน

[caption id="attachment_131528" align="aligncenter" width="503"] ไขกลยุทธ์ ไขกลยุทธ์ 'ทีเส็บ'ปี60 ปั๊มรายได้ตลาดไมซ์1.5 แสนล้าน[/caption]

 โฟกัสงานเทรด 5 คลัสเตอร์

ในด้านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้านานาชาติในปีนี้ ทีเส็บจะเน้นส่งเสริมงานไมซ์ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย กระตุ้นให้เกิดการซื้อขาย เพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 และกระตุ้นเศรษฐกิจปี นี้เพื่อดึงนักธุรกิจต่างชาติมาลงทุนในไทย

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ ทีเส็บกล่าวว่าปัจจุบันไทยเป็นอันดับ 1 ในการจัดงานแสดงสินค้า บนพื้นที่กว่า5 แสนตารางกิโลเมตร ตามมาด้วย สิงค์โปร และ มาเลเซีย ซึ่งนักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาในไทย จะเป็นแบบธุรกิจต่อธุรกิจหรือB2B วัดสถิติ การสร้างรายได้ใน 1 คน สูงถึง 1.2 แสนบาทต่อคนต่อทริป ซึ่งกลุ่มนักธุรกิจเหล่านี้มีความต้องการที่จะเข้าไปเยี่ยมชมโรงงาน ทำให้เกิดการค้าและการลงทุน และสำคัญคือ ทีเส็บ ต้องการให้มี นักลงทุน เกิดขึ้นในไทยให้มากขึ้น เพื่อสอดรับนโยบายภาครัฐ

โดยเฉพาะกลุ่ม 4.0 ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญคือ 1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ 4.กลุ่มดิจิตอล 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ไทยแลนด์ 4.0 นโยบายที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมใน 5 คลัสเตอร์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีวิธีเดียวคือ “เวทีอุตสาหกรรมไมซ์” ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพบปะเจรจาของนักธุรกิจ การซื้อขาย การสร้างนวัตกรรม ไทยอาจเติบโตเพิ่มขึ้น5 - 15% จากการจัดประชุมหรือการแสดงสินค้าและคาดว่าปี 2560 จะมีการจัดงานเพิ่มมากกว่า 100 งาน

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางการขับเคลื่อนตลาดไมซ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560