กรม สบส.เร่งคลอดกฎหมาย 3 ฉบับว่าด้วยการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ 72 ชั่วโมงแรก

20 ก.พ. 2560 | 09:00 น.
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยขณะนี้กฎหมายรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน 72 ชั่วโมงแรกตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4  ยังไม่มีผลบังคับใช้ อยู่ระหว่างเร่งจัดทำกฎหมาย 3 ฉบับรองรับ พร้อมหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข กำหนดค่าใช้จ่ายการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติโดยอาศัยพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินเป็นฐาน เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศใช้

นายแพทย์วิศิษฎ์  ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ ความคืบหน้าของการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 ตามมาตรา 36 ที่กำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่ง ต้องควบคุมและดูแลให้มี การช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาล เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้นๆ  โดยเฉพาะการรักษาใน 72 ชั่วโมงแรกนั้น ขอยืนยันว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ตามที่มีการนำเสนอในโซเซียลมีเดีย

ในทางปฏิบัตินั้น จะต้องจัดทำกฎหมาย คือ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย การกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน  2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วย หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินและการระดมทรัพยากรและการมีส่วนร่วมการช่วยเหลือเยียวยาและจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น และ3. หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรา 36 โดยอาศัยพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินเป็นฐาน  เพื่อให้ภาคเอกชนยึดเป็นแนวปฏิบัติ   ซึ่งขณะนี้กรม สบส.ได้เร่งดำเนินการจัดทำ และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสถานพยาบาลมาแล้ว โดยจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบ  เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีประกาศใช้  และหากร่างประกาศกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ มีผลบังคับใช้  โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องปฏิบัติตาม โดยห้ามเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ

ด้านนายแพทย์ธงชัย  กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ  กล่าวว่า ตามกรอบกฎหมายการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 โรงพยาบาลเอกชนไม่มีสิทธิ์เรียกเก็บเงินก่อนทำการรักษาช่วยชีวิตที่ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ   จะบอกว่าหากไม่มีเงินแล้วไม่รักษาไม่ได้   เพื่อคุ้มครองชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉิน  โดยหากกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีผลบังคับใช้ก็จะไม่มีการเรียกเก็บเงินค่ารักษาใดๆ จากญาติหรือผู้ป่วยภายใน 72 ชั่วโมง  เนื่องจากจะมีกองทุนต่างๆ ได้แก่ กองทุนประกันสังคม  สวัสดิการข้าราชการ และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  มารับผิดชอบค่าใช่จ่ายส่วนนี้แทนตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรา 36 ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน จะเป็นฝ่ายกำหนดประเภท รายละเอียดของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ