สุวรรณภูมิได้รับการรับรอง Airport Carbon Accreditation ระดับ Optimisation

20 ก.พ. 2560 | 08:36 น.
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้รับการรับรอง Airport Carbon Accreditation ระดับที่ 3 คือ ระดับ Optimisation นับเป็น 1 ใน 12 ท่าอากาศยานแรกในภูมิภาคเอเชีย -แปซิฟิก ที่ได้รับการรับรอง

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.กล่าวว่า ตามที่ Airports Council International Europe (ACI EUROPE) ได้จัดทำโครงการ Airport Carbon Accreditation เพื่อสนับสนุนให้ท่าอากาศยานดำเนินการตรวจวัดปริมาณ Carbon Emissions และบริหารจัดการการใช้พลังงานเพื่อลดการปล่อย Carbon Emissions ของท่าอากาศยาน โดยแบ่งการรับรองออกเป็น 4 ระดับ และจากการที่ ทอท.เป็นหน่วยงานที่มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจท่าอากาศยานควบคู่กับการให้ความสำคัญทางด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จึงได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2555 และท่าอากาศยานของ ทอท.จำนวน 5 แห่งได้รับการรับรองในระดับต่างๆ เป็นลำดับขั้นมาโดยตลอด

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้รับการรับรอง Airport Carbon Accreditation ในระดับที่ 1 ‘Mapping’ เมื่อปี 2556 และระดับที่ 2 ‘Reduction’ เมื่อปี 2557 และรักษาการรับรองในระดับที่ 2 มาจนถึงปี 2559 ซึ่งล่าสุด ทสภ.ได้รับการรับรอง Airport Carbon Accreditation ระดับที่ 3 คือ ระดับ Optimisation ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2560 – 14 กุมภาพันธ์ 2561 และนับเป็น 1 ใน 12 ท่าอากาศยานแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ได้รับการรับรองในระดับดังกล่าว

นายนิตินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ท่าอากาศยานของ ทอท.ได้รับการรับรอง Airport Carbon Accreditation ในระดับต่างๆ ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ได้รับการรับรอง Airport Carbon Accreditation ระดับที่ 1  เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ต่อมาได้รับการรับรอง Airport Carbon Accreditation ระดับที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 และปัจจุบันท่าอากาศยานทั้ง 4 แห่ง อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้ารับการรับรองในระดับที่ 3 คือ ระดับ Optimisation ต่อไป

สำหรับการรับรองของ Airport Carbon Accreditation แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ (1) ระดับที่ 1 ‘Mapping’ ท่าอากาศยานจะต้องจัดทำรายงาน Carbon Footprint (เฉพาะกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมของท่าอากาศยาน) ให้ได้ตามมาตรฐาน รวมทั้งจะต้องผ่านการทวนสอบจากผู้ทวนสอบอิสระ (2) ระดับที่ 2 ‘Reduction’ ท่าอากาศยานจะต้องผ่านข้อกำหนดของการรับรองในระดับที่ 1 และต้องจัดทำแผนบริหารจัดการคาร์บอนที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมายและแนวทางในการลดการปล่อย Emissions (3) ระดับที่ 3 ‘Optimisation’ ท่าอากาศยานจะต้องผ่านข้อกำหนดของการรับรองในระดับที่ 2 และเพิ่มขอบเขตของรายงาน Carbon Footprint โดยจะต้องรวม Emissions ที่เกิดจากกิจกรรมที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของท่าอากาศยานเข้ามารายงาน รวมถึงต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อย Emissions จากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมอันเป็นแหล่งกำเนิดของ Emissions ด้วย และ (4) ระดับที่ 3+ ‘Neutrality’ ท่าอากาศยานจะต้องผ่านข้อกำหนดของการรับรองในระดับที่ 3 และทำการซื้อหรือจัดหา Carbon Credit เพื่อชดเชยปริมาณ Emissions ที่ปลดปล่อยออกมาจากกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมของท่าอากาศยาน

นายนิตินัย กล่าวในตอนท้ายว่า ทอท.ได้มุ่งมั่นที่จะให้การพัฒนาและการปฏิบัติการของท่าอากาศยานสามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมคือการเข้าร่วมโปรแกรม Airport Carbon Accreditation ซึ่งเป็นโปรแกรมที่สนับสนุนให้ท่าอากาศยานบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งยังเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในปัจจุบัน การได้รับการรับรองในระดับดังกล่าว ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของท่าอากาศยานในการลดปริมาณ Emissions โดยไม่จำกัดเฉพาะกิจกรรมที่อยู่ภายใต้การควบคุมของท่าอากาศยานเท่านั้น แต่รวมถึงกิจกรรมของผู้เช่าผู้ประกอบการและสายการบินที่ดำเนินกิจกรรมภายในท่าอากาศยาน และการดำเนินการดังกล่าวยังถือเป็นแนวทางในการบริหารองค์กรตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีอีกด้วย