กสิกรไทยชี้ GDP ปี’59 โต 3.2% ใกล้เคียงที่คาด...ประเมินไตรมาส 1/60 ประคองตัวต่อเนื่องที่ 3.0%

20 ก.พ. 2560 | 08:30 น.
03_KResearch_CH_14-503x125 ประเด็นสำคัญ

•ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2559 เติบโตได้ร้อยละ 3.2 ใกล้เคียงกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้ โดยการส่งออกสินค้ากลับมาเป็นแรงช่วยพยุงเศรษฐกิจท่ามกลางภาคการท่องเที่ยวที่อาจจะชะลอตัวลงไปบ้าง ในขณะที่การลงทุนภาครัฐได้แรงส่งจากการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจที่เร่งตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้จ่ายของครัวเรือนจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงไป

•แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/2560 คาดว่า จะยังคงเติบโตได้ใกล้เคียงไตรมาสที่ 4/2559 ที่ร้อยละ 3.0 (YoY) จากการส่งออกที่จะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และจะมีบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งจะช่วยชดเชยผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่อาจจะผ่อนแรงลงหลังมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายสิ้นสุดลง ตลอดจนการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2560 ไว้ที่ร้อยละ 3.3 เพื่อรอประเมินผลการเบิกจ่ายจากงบกลางปี 2560 ซึ่งหากการเบิกจ่ายเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เศรษฐกิจไทยอาจจะสามารถเติบโตได้ใกล้เคียงกรอบบนของการประมาณการ (ช่วงประมาณการ 3.0%-3.6%) แต่ยังต้องระวังปัจจัยเสี่ยงภายนอกประเทศ

การส่งออกสินค้าที่เป็นบวกต่อเนื่องเป็นแรงพยุงเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2559 ท่ามกลางภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ผ่อนแรงลง ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า

ตัวเลข GDP ที่ปรับฤดูกาลในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 0.4 (QoQ, s.a.) เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 โดยมีแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 (QoQ, s.a.) สูงที่สุดในรอบ 7 ไตรมาส ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเติบโตเติบโตขึ้นที่ร้อยละ 0.4 (QoQ, s.a.) จากการใช้จ่ายในสินค้าประเภทกึ่งคงทนและการบริการ เช่น เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และการบริการสุขภาพ ในขณะที่การจับจ่ายในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนยานพาหนะหดตัวลง

ในขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4/2559 ขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 (YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 (YoY) ในไตรมาส 3/2559 มาจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 (YoY) จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ร้อยละ 3.0 (YoY) เป็นผลมาจากฐานที่สูงของช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตส่งผลให้มีการเร่งซื้อรถยนต์มาก นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ระดับเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นตามส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของครัวเรือนให้ปรับขึ้นตาม ในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุนปรับตัวดีขึ้น โดยการบริโภคภาครัฐกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 1.5 (YoY) หลังจากไตรมาสก่อนหน้าติดลบจากผลเชิงเทคนิคจากการปรับฐานเงินเดือนย้อนหลังของข้าราชการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2558 ในขณะที่การลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวเร่งขึ้นเป็นผลจากการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนจากรัฐวิสาหกิจในช่วยไตรมาสสุดท้ายของปี นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าที่เติบโตเป็นบวกเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการขยายตัวทั้งในสินค้าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมไปถึงอาหารทะเล และยางพารา

kb2020-1 แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/2560 คาดว่า จะเติบโตได้ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 4/2559 ที่ร้อยละ 3.0 (YoY) จากการส่งออกที่จะเติบโตได้ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า และจะมีบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาคท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งจะช่วยชดเชยผลจากการบริโภคภาคเอกชนที่อาจจะผ่อนแรงลงหลังมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายสิ้นสุดลง ตลอดจนการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัวได้

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2560 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวัง และประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยไว้ที่ร้อยละ 3.3 โดยการใช้จ่ายของภาครัฐ และการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก โดยผลกระทบจากมาตรการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญคาดว่าจะหมดไปในไตรมาสที่ 2 และภาคท่องเที่ยวจะทยอยฟื้นตัวเป็นลำดับ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะเริ่มดำเนินก่อสร้างและเบิกจ่ายได้มากขึ้นจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาวะการลงทุนของโลกที่อาจจะชะลอออกไปเพื่อรอดูนโยบายของสหรัฐฯ อาจจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนอาจจะฟื้นตัวอย่างจำกัด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงรอประเมินผลการเบิกจ่ายจากงบกลางปี 2560 ซึ่งหากเบิกจ่ายได้ตามแผนก็จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตได้ใกล้เคียงกับกรอบบนของการประมาณการ (ช่วงประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 3.0-3.6) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากความไม่แน่นอนของนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยการเมืองที่เปราะบางในสหภาพยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย