ขีดเส้น 45 วันหาข้อสรุป 15 กิจการกังหันลมผลิตไฟฟ้าในเขตปฏิรูปที่ดิน

15 ก.พ. 2560 | 08:57 น.
กระทรวงเกษตรฯ เผยความคืบหน้ากรณีกิจการกังหันลมผลิตไฟฟ้าในเขตปฏิรูปที่ดิน ขีดเส้น45 วัน ลงพื้นที่จริงตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกให้ครบทุกมิติ ใน 15 บริษัทที่เหลือ ก่อนหาข้อยุติ

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีกิจการกังหันลมผลิตไฟฟ้าในเขตปฏิรูปที่ดินว่า จากกรณีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนการอนุญาตให้ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ เนื้อที่ 39 ไร่ เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลนั้น กิจการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันลมมิได้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ขณะนี้ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้มีหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาเช่ากับบริษัทดังกล่าวแล้ว ซึ่งถือเป็นอันสิ้นสุด นอกจากนี้ ทาง ส.ป.ก.ได้ตรวจสอบต่อเนื่อง ซึ่งพบว่า จาก 20 บริษัทที่อยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา และชัยภูมิ มีบริษัทถูกฟ้องไป 1 บริษัท ยังไม่ทำสัญญา 1 บริษัท และได้ยกเลิกไปอีก 3 บริษัท รวม 5 บริษัท จึงเหลือ 15 บริษัท ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่จริงอย่างละเอียดต่อไป ทั้งนี้ ใน 15 บริษัท มีบริษัทที่ได้ดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว 5 บริษัท ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556-2559 ส่วนอีก 10 บริษัทที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยมีการดำเนินการให้ประโยชน์ตอบแทนแก่เกษตรกร มีการทำถนนให้ในบริเวณที่เข้าใช้ประโยชน์ ส่วนบริษัทที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อยู่ระหว่างการทำถนน และดำเนินการตามสัญญา

“ อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ทาง เลขาธิการ ส.ป.ก. ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ว่าเป็นไปตามกฎหมายและข้อสัญญาหรือไม่ โดยกำหนดระยะเวลาตรวจสอบ 45 วัน นับจากวันนี้เป็นต้นไป โดย ส.ป.ก.ต้องดำเนินการตรวจสอบในรายละเอียดแต่ละเรื่องทั้ง 15 บริษัท ซึ่งต้องเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่จริงในแต่ละจังหวัด รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ด้วย ว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขอย่างถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหากทั้ง 15 บริษัท ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างครบถ้วนก็จะสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่หากปฏิบัติไม่ถูกต้องตามสัญญาก็จะต้องดำเนินการตามระเบียบราชการต่อไป” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการตรวจสอบข้อมูลทั้ง 15 บริษัท พบว่ามีความแตกต่างจากบริษัทที่ถูกฟ้อง โดยบริษัทที่ถูกฟ้องไม่ได้ดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร แต่อีก 15 บริษัท ได้มีการดำเนินการที่ให้ประโยชน์กับเกษตรกร อย่างไรก็ตาม จาก 7 วันที่ผ่านมา เป็นการตรวจสอบข้อมูลทางเอกสารในเบื้องต้น ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะลงพื้นที่จริงในจังหวัดนครราชสีมา และชัยภูมิ เพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดให้ครบทุกมิติอีกครั้ง รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลจาก ส.ป.ก.จังหวัดชัยภูมิ และนครราชสีมา เกี่ยวกับการดำเนินงานของแต่ละบริษัทว่าเป็นไปตามเงื่อนไขอย่างถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปในการดำเนินการต่อไป