นายกฯชี้เดินหน้าปฏิรูปประเทศ/ทำยุทธศาสตร์ชาติ/สร้างความปรองดอง เดินคู่ “Thailand 4.0”

15 ก.พ. 2560 | 05:50 น.
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “ Opportunity Thailand” พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “โอกาสกับประเทศไทย 4.0” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ. นนทบุรี

วันที่ 15 ก.พ.2560  เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ. นนทบุรี  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “ Opportunity Thailand” พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “โอกาสกับประเทศไทย 4.0” โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุนชาวไทยและต่างประเทศและสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศร่วมงานกว่า 2,700 คน   สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์ของโลกในปัจจุบันมีความพลวัต เปลี่ยนแปลงผันผวน มีเหตุการณ์เหนือความคาดหมายเกิดขึ้นในแต่ละประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศอังกฤษขอแยกตัวจากสหภาพยุโรปหรือ Brexit  การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา และความผันผวนทางการเมืองในฝั่งยุโรปที่ยังคงมีอยู่ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ทำให้แต่ละประเทศจะต้องคิดกลยุทธ์เพื่อรักษาระดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศตนเอง รวมทั้งประเทศไทยจะต้องปรับตัว เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเร่งสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับประเทศในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการวางแผนการพัฒนาอนาคตประเทศในระยะ 20 ปี อย่างมีทิศทางที่ชัดเจน

ประเทศไทยได้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจ เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนั้นๆ โดยเริ่มจาก “Thailand 1.0” ที่เน้นเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม ไปสู่ “Thailand 2.0” ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา โดยใช้ประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานราคาถูกและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ “Thailand 3.0” ในปัจจุบันเน้นอุตสาหกรรมหนักที่มีความซับซ้อน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้มาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก แม้ว่า “Thailand 3.0” ทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องเผชิญกับ “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง”“กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุลในการพัฒนา” เป็นสาเหตุให้ประเทศไทยไม่เติบโตอย่างก้าวกระโดด

ดังนั้น รัฐบาลจึงได้มีนโยบายขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ Thailand 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการพึ่งพานวัตกรรมหรือองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว และการก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนต่างๆ ในทุกๆมิติ เพื่อสร้างความสมดุลและความยั่งยืน โดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืนใน 4 มิติ ทั้งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสร้างสังคมอยู่ดีมีสุข และการเสริมสร้างภูมิปัญญาของมนุษย์

รัฐบาลได้น้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เป็นหลักคิดที่สอดคล้องกับโมเดลประเทศไทย 4.0 มาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ  ทั้งนี้  “ศาสตร์พระราชา” ได้สอนให้รู้ว่า การพัฒนาจะยั่งยืนได้ ต้องรักษาสมดุล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพ ความสมดุลและความสุขของประชาชนด้วย เช่นเดียวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

แนวพระราชดำริที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ว่า การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ท้องถิ่น ถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เร่งแก้ไขปัญหาจากฐานราก และสร้างความเข้มแข็งจากภายใน มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในลักษณะการพึ่งตนเอง ตามที่ทรงใช้คำว่า “ระเบิดจากข้างใน” คือ ทำให้ชุมชน หมู่บ้าน มีพื้นฐานที่มั่นคงพอสมควรก่อน แล้วจึงสร้างความเจริญและยกระดับเศรษฐกิจให้สูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รัฐบาลมุ่งสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยสืบสานพระราชปณิธานที่พระองค์ท่านได้ทรงวางรากฐานไว้ เพื่อสร้างประโยชน์และความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนให้แก่พี่น้องประชาชนไทย และเผื่อแผ่ไปยังเพื่อนบ้านและนานาประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยเสมอมา

ดังนั้น  รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา กฎหมาย และความมั่นคงของประเทศ รวมถึงการรักษาฐานทรัพยากรของประเทศ เพื่อนำพาประเทศไทยสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” อย่างแท้จริง

ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพื่อก้าวข้ามไปสู่โมเดลใหม่ของประเทศที่เรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” ซึ่งเป็นโมเดลของเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value-Based Economy) และเน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-driven Economy) หัวใจสำคัญคือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมไปสู่การเป็น“คนไทย 4.0” ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครอง ในการพัฒนาคนไทย เยาวชนไทย ให้มีทักษะความรู้ ความสามารถให้เท่าทันต่อความเป็นไปของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะการพัฒนาความสามารถด้าน STEM (Science, technology, engineering and mathematics) และภาษาต่างประเทศ เพื่อให้บุคลากรไทยมีความพร้อมรองรับความต้องการของตลาดและผู้ประกอบการที่จะมาลงทุนในประเทศ และพร้อมต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีและนวัตกรรม

รัฐบาลยังพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนของภูมิภาค” คือ การส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต เพื่อสร้าง “เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่” (New Engines of Growth) เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น โดยการนำ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์”มาเป็นตัวขับเคลื่อน และยกระดับภาคเศรษฐกิจเดิมที่มีพื้นฐานดีและมีจุดแข็งอยู่แล้วทั้งด้านการเกษตร การท่องเที่ยวและด้านการบริการให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Startup) ที่ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ นอกจากนี้ รัฐบาลยังคำนึงถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-based Development Policy) เพื่อกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่างๆ ในประเทศอย่างทั่วถึง ผ่านกลไกของ “18 กลุ่มจังหวัดและ 76 จังหวัด” สร้างกิจกรรมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ของ “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ” ทั้ง 10 จังหวัด ที่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านในรูป เน้นสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่มูลค่าในภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ในรูปแบบ “คลัสเตอร์” ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม เชื่อมโยงทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้ ประเทศไทยจะได้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาคที่แท้จริง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ประกอบไปด้วยจังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่นำร่อง โดยเร่งการพัฒนาความพร้อมในทุกด้านเพื่อรองรับการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค ระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการอำนวยความสะดวกในรูปแบบ One Stop Service เพื่อสนับสนุนการประกอบธุรกิจให้มีความสะดวกรวดเร็วที่สุด โดยตั้งเป้าหมายให้พื้นที่  EEC นี้ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้  เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการบริหาร และสำนักงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถเดินหน้าทำงานและกำหนดมาตรการต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่ EEC ระหว่างที่รอพระราชบัญญัติ EEC ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอน

สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนนั้น มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยนโยบายด้านการลงทุนในอนาคต จะเน้นส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศหรือ Investment - led Transformation ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนใน 5 มิติ ได้แก่ 1. มิติด้านเทคโนโลยี สร้างขีดความสามารถของเทคโนโลยีหลัก (Core Technologies) ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เช่น เทคโนโลยี ชีวภาพ (Biotechnology) ทั้งภาคเกษตร อาหาร พลังงาน สุขภาพและการแพทย์ 2. มิติด้านทรัพยากรมนุษย์ การสร้าง “คนไทย 4.0” รวมถึงการดึงดูดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและมีทักษะสูง (Talents) จากต่างประเทศในสาขาที่ขาดแคลนมาช่วยกันพัฒนาประเทศด้วย 3. มิติด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Physical Infrastructure)  โครงสร้างพื้นฐานรองรับการเชื่อมต่อ (Connectivity Infrastructure) โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา (Intellectual Infrastructure) และโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม (Social Infrastructure)  4. มิติด้าน Enterprise ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในระดับต่างๆ ให้มีความเข้มแข็ง ทั้งการส่งเสริมให้เกิด Startup ในธุรกิจต่างๆ  และการยกระดับและปรับปรุงประสิทธิภาพของ SMEs จากผู้รับจ้างผลิต (OEM) ไปสู่การออกแบบและสร้างแบรนด์ (ODM & OBM) ส่งเสริมให้บริษัทใหญ่มาช่วยพัฒนา Local Supplier ด้วย 5. มิติด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเน้นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและการพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นฐานอุตสาหกรรมอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของรัฐบาล

การปรับเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมการลงทุน จะสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศระยะยาว เพื่อให้เกิดการผลักดันและขับเคลื่อนประเทศอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกันต่อไปทุกๆ รัฐบาลได้ผลักดันกฎหมายด้านการลงทุนที่สำคัญ 2 ฉบับคือ การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน และการยกร่างพระราชบัญญัติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยหวังที่จะสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีคุณค่าสูงให้เข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

2  ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งผลักดันการยกร่างกฎหมายและแก้ไขกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติราชการ เพื่อปรับปรุงการบริการของภาครัฐให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องได้รับความสะดวกรวดเร็วในการประกอบธุรกิจ การทำงานของภาครัฐจะต้องมีความโปร่งใส เป็นธรรม   ไม่ทุจริตคอร์รัปชันและบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยมีบรรยากาศที่น่ามาลงทุน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้มีการดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินไปควบคู่กับนโยบาย Thailand 4.0 ได้แก่ 1. การปฏิรูปประเทศ 2. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ  3. การสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยได้มีคำสั่งให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)” เพื่อให้การทำงานเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น และเร่งขับเคลื่อนแผนงาน   เพื่อส่งมอบให้รัฐบาลชุดต่อไป โดยมี 4 คณะกรรมการย่อย ประกอบด้วย 1) คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ 2) คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3) คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง 4) คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้การขับเคลื่อน 3 เรื่องที่สำคัญนี้ให้สำเร็จได้ด้วยดี ซึ่งจะดูแลด้วยตนเองในทุกชุด โดยมีรองนายกรัฐมนตรีทุกท่านมาช่วยขับเคลื่อนในแต่ละชุด และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์) ทำหน้าที่เลขานุการ ป.ย.ป.

สำหรับ “สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU)”  รัฐบาลจะดึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดย PMDU จะมีบทบาทในการประสานงาน ติดตาม ขับเคลื่อนนโยบายแต่ละด้าน และรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี  เน้นการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในช่วง 5 ปีแรกและนโยบายสำคัญของประเทศ และผลักดันการทำงานของคณะกรรมการย่อยทั้ง 4 ชุด ให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินการของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และนโยบาย Thailand 4.0 จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สามารถสร้างรายได้ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ สร้างฐานเศรษฐกิจและสังคมแห่งอนาคต ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Gateway of ASEAN) อย่างแท้จริง ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตามแนวทางประชารัฐ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาและประชาสังคม โดยหัวใจหลักที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จ คือการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง เพื่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ “Thailand 4.0”

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณนักธุรกิจชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ช่วยกันทำให้ประเทศไทยมีบรรยากาศที่น่าลงทุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้า และพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงอย่างยั่งยืน รวมทั้งเพื่อให้นักลงทุนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นว่า  “ประเทศไทย 4.0” จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการทำธุรกิจในโลกอนาคตที่มุ่งไปสู่ความร่วมมือและแบ่งปันระหว่างกันและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันทางธุรกิจมากขึ้นต่อไป