พบพิรุธ? "การบินไทย" ปมสินบน "โรลส์-รอยซ์"

13 ก.พ. 2560 | 11:03 น.
ความคืบหน้าในการตรวจสอบการรับสินบนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ ประเทศอังกฤษ ในส่วนของ การบินไทย ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พบความผิดปกติ 3 ประเด็น

สปริงนิวส์ยังคงเกาะติด ความคืบหน้าในการตรวจสอบการรับสินบนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ ประเทศอังกฤษ ที่มีการเปิดเผยโดยกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และสำนักงานปราบปรามการฉ้อฉลร้ายแรง ของอังกฤษ ในส่วนของ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบการเสื่อมสภาพของฝูงบินที่การบินไทยไม่ได้ใช้งานที่สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ว่าจะมีการเกี่ยวโยงกับการรับสินบินดังกล่าวหรือไม่

ล่าสุด นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าสตง. บอกกับสปริงนิวส์ว่า เจ้าหน้าที่ได้กลับมารายงานผลการตรวจสอบให้รับทราบแล้ว และจากการตรวจสอบเชิงลึกพบข้อพิรุธ 3 ประเด็น ในส่วนของการบินไทย

ประเด็นแรก การตรวจสอบฝูงบิน 10 ลำตามบัญชีตรวจสอบของสตง. เป็นเครื่องบินแอร์บัส เอ 340-500 จำนวน 4 ลำ แอร์บัส เอ 340-600 จำนวน 6 ลำ ที่ไม่ได้ใช้งาน และขึ้นบัญชีจำหน่ายแล้ว ที่จอดอยู่ทั้งที่สนามบินอู่ตะเภา สนามบินดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เคยมีคำเตือนถึงความเสี่ยงว่าไม่สมควรจัดซื้อ

พบพิรุธ? "การบินไทย"  ปมสินบน "โรลส์-รอยซ์" ประเด็นถัดมา เป็นการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เพื่อใช้เป็นอะไหล่จำนวน 7 เครื่อง ซึ่งเป็นการซื้อในครั้งเดียว ที่ตั้งข้อสังเกตว่าสั่งซื้อเครื่องสำรองค่อนข้างมากผิดปกติ และปัจจุบันถูกขึ้นบัญชีจำหน่ายเช่นกัน

ประเด็นสุดท้าย คือ การใช้ประโยชน์จากโรงซ่อมของโรลส์-รอยซ์ ที่ดอนเมือง ที่พบว่ามีการใช้ประโยชน์ในช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นนำเครื่องบินไปซ่อมที่โรลส์-รอยซ์ในต่างประเทศ อาทิ อังกฤษและสิงคโปร์ แทนที่จะซ่อมได้ในประเทศ ซึ่งทำให้การบินไทยต้องเสียงบประมาณเพิ่มเติม

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน  ระบุว่า เรื่องราคาเป็นเรื่องในรายละเอียด แต่ต้องยอมรับว่าเป็นของเฉพาะที่ไม่ได้มีการขายโดยทั่วไป ข้อมูลที่ได้รับเบื้องต้น มันแพงตั้งแต่รวมอยู่ในราคาเครื่องบินอยู่แล้ว ทำให้ต้นทุนเราสูง ทำให้เวลาจะขายก็จะขายยาก อะไหล่ก็ขายยาก ถ้าขายได้ก็คงไม่คุ้มกับที่ซื้อมา เรียกว่าขาดทุนก็ได้ แต่อย่าบอกว่าขาดทุนเลย จะบอกว่าจะมีคนมาซื้อหรือไม่ ก็ยังรอคนที่จะมาซื้อ เรื่องที่มีการติติงให้ทบทวนการจัดซื้อเครื่องบินไม่สมควรจะดำเนินการจัดซื้อ อีกเรื่องคือการซื้ออะไหล่ผิดปกติ เพราะฉะนั้นสองส่วนนี้พอจะเป็นพฤติการประกอบที่อาจจะชี้ได้บางส่วนว่ามีความผิดปกติ การซื้ออะไหล่ ถึงแม้เราจะมีฝูงบิน 10 ลำ แต่ในทางช่างก็ไม่มีความจำเป็นต้องซื้ออะไหล่ถึงขนาดนั้น อย่างมากทยอยซื้อก็ยังดี แต่ซื้อเป็นล็อตก็น่าคิดว่ามีปัญหาอะไรที่เป็นกรณีพิเศษ มีอะไรที่เป็นข้อจูงใจ

ทั้ง 3 ประเด็น เป็นเพียงข้อพิรุธและร่องรอยของความผิดปกติเท่านั้น ยังไม่สามารถยืนยันและสรุปได้ว่าใครเป็นผู้รับสินบน ต้องนำไปประกอบกับข้อมูลจากต่างประเทศที่สตง.ขอไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับ เพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่ได้เป็นการฟังความข้างเดียว ที่จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาหมดข้อต่อสู้ ผู้ว่าสตง. กล่าว

พบพิรุธ? "การบินไทย"  ปมสินบน "โรลส์-รอยซ์"