จี้คลอดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ สคร.ขีดเส้นเสร็จมี.ค.60 สอดคล้องไทยแลนด์4.0

15 ก.พ. 2560 | 08:00 น.
ซูเปอร์บอร์ดจี้รัฐวิสาหกิจเร่งทำยุทธศาสตร์รายสาขาให้เสร็จภายในมีนาคม 2560 พร้อมตั้งทีมบริหารการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนองค์กร สอดคล้องไทยแลนด์ 4.0

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ 55 แห่งในปี 2560 ต้องทำให้สอดคล้องหรืออิงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

แผนรัฐวิสาหกิจกำหนด 5 ด้านได้แก่ ประการแรก ความชัดเจนในบทบาทของรัฐวิสาหกิจ ที่จะเป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้าประการต่อมาการลงทุนของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นๆ ควรจะมีทิศทางไปทางไหนเพื่อให้จะสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ

ประการที่ 3 เสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงทิศทางด้านการเงินภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก ประการที่ 4 สนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับประเทศไทย 4.0 และแผนดีอี ประการสุดท้ายธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการของแต่ละหน่วยงาน

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนารายสาขาและแผนพัฒนาระดับกระทรวงที่จะต้องกำหนดกรอบระยะเวลาที่แผนดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2560 นี้

มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เห็นชอบยุทธศาสตร์พัฒนารัฐวิสาหกิจในภาพรวมและให้สคร.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เร่งจัดทำยุทธศาสตร์รายสาขาให้แล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นสาขาพลังงาน หรือ สาขาการขนส่ง

“จากนี้ไปหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ ต้องทำแผนออกมาให้เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ของชาติ โดยการปรับแผนของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งรอบนี้จำเป็นทำแผนบริหารการเปลี่ยนแปลงกำหนดให้มี Change Management Agent หรือ ทีมบริหารการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้งหมด”

นายเอกนิติ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเพียงธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM Bank) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)เท่านั้นที่ได้ทำแผนแล้ว

ส่วนงานผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้นนายกรัฐมนตรีมอบหมายในที่ประชุมคนร.ให้กฎหมายเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และนำเสนอเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 6 เรื่องได้แก่ 1.การจัดตั้ง คนร.ให้เป็นกรรมการภายใต้กฎหมาย

2.เรื่องแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ 3.เรื่องของงานอุดหนุนสาธารณะ(PSO) และการติดตามประเมินผล(PSA)ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและสร้างความยั่งยืนระยะยาวให้กับรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันการทำ PSO/PSA เป็นการทำในระดับนโยบายของระดับกระทรวง

4. เรื่องกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งกฎหมายปัจจุบันระบุว่า ผู้มีอำนาจคือใครแต่ไม่บอกขั้นตอนของที่มาและที่ไปทำให้มีการเปลี่ยนเรื่องนโยบายดังนั้นในกฎหมายใหม่จะมีกระบวนการกลั่นกรองสรรหา รูปแบบเดียวกับการสรรหาตำแหน่งผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ธปท.)

5.แนวทางการประเมินผลการทำงานปัจจุบันใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แต่มีกฎหมายใหม่ระบบการประเมินผลจะไปเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ เช่นการลงทุนว่าเป็นไปตามที่รัฐวิสาหกิจกำหนดหรือไม่ และ 6.คือการตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 100%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560