คุมค้าเงิน กฎใหม่ธปท.

13 ก.พ. 2560 | 10:20 น.
ธปท.ผนึกเอกชนตั้ง “TFMC” สร้างมาตรฐานผู้ค้าเงิน ต้องขอใบอนุญาต ดีเดย์ 1 ก.ย. ทั้ง 700 คน ต้องสอบ เหตุ FATF สั่งเพิ่มมาตรฐาน คุมธุรกรรมต้องสงสัย-ก่อการร้ายมาตรฐานคุมธุรกรรมต้องสงสัย-ก่อการร้ายก่อนเข้าประเมินผลบังคับใช้กฎหมายปปง.

มาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (FATF) ส่งผลให้หน่วยงานทางด้านการเงินของไทยต้องปรับมาตรฐานการทำงานให้มีความโปร่งใส มีจริยธรรมมากขึ้น ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวปฏิบัติให้นักค้าเงินของสถาบันการเงินทุกแห่งต้องสอบใบอนุญาตหรือขึ้นทะเบียน จึงจะทำธุรกรรมได้

แนวปฏิบัติดังกล่าวทำให้ดีลเลอร์ค้าเงินที่วิเคราะห์การขึ้นลง และแนะนำให้ลูกค้าซื้อขายต้องปรับตัว โดยปี 2559 ตลาดเงินมีการซื้อขายกันสูงถึง 2.42 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉลี่ยวันละ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 ธปท.สร้างมาตรฐาน

[caption id="attachment_130172" align="aligncenter" width="377"] นางสาววชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นางสาววชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[/caption]

นางสาววชิรา อารมณ์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้กำหนดแนวทางและส่งเสริมมาตรฐานและพัฒนาคุณภาพของบุคลากรในตลาดเงินและตลาดเงินต่างประเทศ โดยขอความร่วมมือให้ธนาคารทุกแห่งจัดให้ผู้ค้าเงินที่มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อขายหรือทำธุรกรรม ได้แก่ Treasury sales,Dealers และ Traders เข้ารับการทดสอบความรู้พื้นฐาน กฎระเบียบ และจริยธรรม

เมื่อผ่านกระบวนการตามคณะกรรมการฯ กำหนดแล้ว ผู้ค้าเงินจะได้รับการรับรองคุณสมบัติในการประกอบอาชีพ โดยธปท.จะทำหน้าที่ศูนย์กลางทะเบียนของผู้ที่ผ่านการรับรองคุณสมบัติทั้งหมด

เป็นความร่วมมือหลังจากจัดตั้งคณะกรรมการตลาดการเงินไทย (Thai Financial Market Committee:TFMC) ที่มีผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ ชมรม ACI (Association Cambiste Internationale) สมาคมจัดการลงทุน สำนักงาน ก.ล.ต. สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย และธปท. เนื่องจากตลาดการเงินมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างรวดเร็ว และเพื่อยกระดับมาตรฐานและรับรองคุณสมบัติผู้ค้าเงินที่มีการดำเนินการอย่างกว้างขวางในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่และไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ธปท.กำหนดให้ผู้ค้าเงินที่มีอยู่ในระบบประมาณ 700 คน สามารถเข้าอบรมและทำการสอบได้นับตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่กำหนดให้มีการอบรมวันแรกในวันที่ 1 เมษายน 2560 และเริ่มสอบในวันที่ 18 เมษายน 2560 เป็นต้นไป และกำหนดให้ผู้ค้าเงินได้ใบรับรองมาตรฐานผู้ค้าเงินครบทั้งหมดภายในวันที่ 1 กันยายน 2560

เบื้องต้นเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับบุคลากรที่จะต้องผ่านการรับรองจำนวนมาก จึงกำหนดให้ผู้ค้าเงินที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 5 ปีขึ้นไปจะได้รับการอนุโลมให้เข้ารับการอบรมแทนการสอบ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 500 คน และหลังจากได้ใบรับรองมาตรฐานผู้ค้าเงินแล้ว จะต้องกลับมาอบรมทุก 2 ปีเพื่อต่ออายุ ซึ่งถ้าไม่มาอบรมจะถือว่าใบรับรองนั้นหมดอายุไป

สำหรับการทดสอบเพื่อรับรองมาตรฐานผู้ค้าเงินจะแบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ ได้แก่ 1. ข้อสอบเทคนิคด้านความรู้ด้านตลาดเงิน (Many market) และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX) 2.ข้อสอบด้านกฎระเบียบและหลักเกณฑ์ในตลาดเงิน และ 3.การอบรมจริยธรรม (Code of conduct)

อย่างไรก็ตาม การออกใบรับรับรองมาตรฐานผู้ค้าเงินดังกล่าว ไม่มีผลบังคับให้ผู้ค้าเงินที่ไม่เข้าร่วมในการประกอบธุรกรรมค้าเงินแต่อย่างใด แต่เชื่อว่าจะส่งผลเชิงบังคับไปโดยปริยาย เพราะขณะที่ผู้ค้าเงินของธุรกิจคู่แข่งผ่านการทดสอบ จะทำเกิดการเปรียบเทียบเครดิตหรือความน่าเชื่อถือของผู้ค้าเงินระหว่างกัน

“การที่เราออกมากำหนดคุณสมบัติผู้ค้าเงินตอนนี้ ไม่ได้หมายความว่ามีปัญหาหรือเกิดปัญหาอะไร แต่ต่างประเทศเขามีมานานแล้ว เราต้องการยกระดับเท่านั้น เพราะในช่วงระยะหลังจะเห็นว่าแต่ละแห่งจะทำแต่เฉพาะของตัวเอง แต่ธปท.ต้องการเสริมความรู้ให้กว้างขึ้น รวมถึงไม่ก่อให้เกิดข้อผิดพลาด”

FATFจี้ไทยตามสากล

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน หรือ FATF ได้มีตรวจประเมินประเทศไทยเมื่อปลายปี2559 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti – Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) ซึ่งคณะผู้ประเมินจากFATFแจ้งถึงการใช้เกณฑ์การประเมินระดับเข้มข้น คือ นอกจากจะพิจารณาถึงความมีอยู่ของบทบัญญัติ หรือมาตรการทางกฎหมายแล้วยังพิจารณาถึงผลการนำบทบัญญัติของกฎหมายไปบังคับใช้ด้วย

“ คณะผู้ประเมินอยากเห็นหน่วยงานในประเทศไทยมีการขับเคลื่อนตามกฎหมายปปง.จึงเพิ่มเติมกฎระเบียบ วิธีการปฎิบัติงานบางส่วน โดยจะมีการประเมินใหม่อีกใน3ปีข้างหน้า ซึ่งธปท.เป็นเจ้าภาพนำร่องและกำกับให้ผู้ประกอบการปฎิบัติตามระเบียบและจัดทำรายงานธุรกรรมอันเป็นเหตุอันต้องสงสัยตามกฎหมายปปง.ก่อนที่FATFจะเข้ามาประเมินอีกครั้ง และในอนาคตเชื่อว่าจะมีหน่วยงานกำกับอื่นๆดำเนินการต่อไป” สำหรับการอบรมและสอบไลเซนต์นั้น ยังมีข้อกำหนดให้ร้านค้าทองคำ บริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์จะต้องผ่านการอบรมอย่างน้อย 10 ชั่วโมง

ข้อมูลของธปท.ระบุว่าในเดือนพ.ย. 2559 มีการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ 2.09 แสนล้านดอลลลาร์ เดือนธ.ค.ซื้อขาย1.8 แสนล้านดอลลาร์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560