เตือน 48 จังหวัดเสี่ยงภัยแล้ง คาดปีนี้กว่า 7.6 ล้านไร่-2 เดือนเสียหายกว่า 233 ล.

12 ก.พ. 2560 | 06:00 น.
กระทรวงเกษตรฯเปิดพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งปี 59/60 รวม 48 จังหวัดกว่า 7.65 ล้านไร่ อีสานนำโด่ง 3.7 ล้านไร่ เผยภัยแล้งกว่า 2 เดือนมีพื้นที่เกษตรเสียหาย 1 แสนไร่ ค่าความเสียหาย 233 ล้านบาท กรมชลฯเผยชาวนาปลูกข้าวนาปรังเกินแผน 2.5 ล้านไร่เสี่ยงเสียหาย

จากที่ประเทศไทยได้ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมาหลายปี ส่งผลภาคเกษตรได้รับผลกระทบโดยตรงจากขาดรายได้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเป็นหนี้สินเพิ่ม ดังนั้นเพื่อเป็นข้อมูล และเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรในปีนี้ รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งได้อย่างรวดเร็วขึ้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ คาดการณ์ว่าพื้นที่เกษตรจะประสบปัญหาความแห้งแล้งในปี 2559/2560 (พ.ย.59- เม.ย.60)รวมทั้งสิ้น 48 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่รวม 7.65 ล้านไร่ ได้แก่ 1. ภาคเหนือ พื้นที่เกษตรจะประสบความแห้งแล้งใน 13 จังหวัด ประกอบด้วย
พิษณุโลก เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ตาก แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พะเยา เชียงราย สุโขทัย ลำปาง พิจิตร และอุทัยธานี คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1.46 ล้านไร่ 2. ภาคกลาง พื้นที่เกษตรจะประสบความแห้งแล้งใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี และประจวบคีรีขันธ์ คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 0.85 ล้านไร่

3. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่เกษตรจะประสบความแห้งแล้งใน 17 จังหวัด ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ เลย มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 3.72 ล้านไร่ 4. ภาคตะวันออก พื้นที่เกษตร ที่จะประสบความแห้งแล้งใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1.14 ล้านไร่ และภาคใต้ พื้นที่เกษตรที่จะประสบความแห้งแล้งใน 10 จังหวัด ประกอบด้วย ปัตตานี สงขลา ยะลา นราธิวาส นครศรีธรรมราช สตูล สุราษฎร์ธานี พัทลุง และชุมพร คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 0.48 ล้านไร่

"อย่างไรก็ดีสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559/2560 จัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก หากเทียบกับปีที่แล้วมีพื้นที่เกษตรประสบภัยแล้งใน 63 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่ 101.75 ล้านไร่ แต่ในปีนี้ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 5.50 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ จำนวน 3.12 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรมากกว่าปีที่ผ่านมาอยู่จำนวน 10,813 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา"

ขณะที่ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เผยผลกระทบภัยแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559-ปัจจุบัน มีพื้นที่เกษตรเสียหายทั่วประเทศ 100,470.25 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 233 ล้านบาท

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เผยแผนการจัดสรรนํ้า (อ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1พฤศจิกายน 2559 ถึงปัจจุบัน ใช้นํ้าไปแล้ว 9,398 ล้านลูกบาศก์เมตรคิดเป็น 53% ของแผนจัดสรรนํ้า ส่วนผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พบว่าชาวนาปลูกข้าวนาปรัง 6.57 ล้านไร่จากแผนที่กำหนดไว้ 4 ล้านไร่ เกินมา2.57 ล้านไร่ คิดเป็น 164.12% จะการันตีข้าวในเขตชลประทานเท่านั้นที่จะไม่เสียหาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560