ธปท.เชื่อมั่นไทยแลนด์ 4.0 จุดเริ่มต้นสู่สังคม 'ไร้เงินสด'

12 ก.พ. 2560 | 02:00 น.
แบงก์ชาติมั่นใจยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 จุดเริ่มต้นสำคัญที่ผลักดันการสร้างนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจรและนำไปสู่ “สังคมไร้เงินสด”

งานเปิดตัวบริการ“ซัมซุงเพย์” อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยเป็นประเทศที่ 10 ของโลก ถือจุดเริ่มต้นและการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ของไทยผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟน

ในงานดังกล่าวนอกจากจะมีพันธมิตรสถาบันการเงินเข้าร่วมแล้ว ยังมีตัวแทนภาครัฐ 2 หน่วยงานเข้าร่วมการเปิดตัว คือ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินกล่าวปาฐกถาเรื่อง“การยกระดับประเทศไทยสู่ยุคสังคมไร้เงินสด”

นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า ขณะนี้ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นยุคแห่งการมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรม ซึ่งนวัตกรรมการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะกลายมาเป็นช่องทางการหมุนเวียนเงิน

ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นหัวใจการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความสำคัญ โดยเป็นทั้งช่องทางการโอนเงิน และชำระค่าสินค้าและบริการเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเปรียบเสมือนกับถนนกระจายความเจริญไปตามตรอก ซอกซอย เข้าไปยังชุมชน และเปิดให้เกิดผู้ให้บริการนวัตกรรมการเงินรายใหม่ที่ไม่ใช้ธนาคาร(Non Bank)หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่(โอปอเรเตอร์) และตอบโจทย์ ความต้องการของคนรุ่นใหม่มากขึ้น

“ตัวเลขการทำธุรกรรมการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเติบโตราว 20% เช่นเดียวกับตัวเลขการใช้งานโมบายแบงกิ้งที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด”

นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า ธปท.ให้ความสำคัญในการวางรากฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ และการพัฒนารากฐานให้กับสถาบันการเงิน ผ่านการผลักดันแผนยุทธศาสตร์ อีเพย์เมนต์แห่งชาติ (National e-Payment) ให้เกิดระบบการชำระเงินที่มีความทันสมัย ขณะที่รัฐบาลมีโครงการพร้อมเพย์ และ มีโครงการตั๋วร่วม หรือ บัตรใยแมงมุม รวมถึงส่งเสริมฟินเทค

ในส่วนของการส่งเสริมให้เกิดฟินเทคธปท.มุ่งตอบสนองผู้ให้บริการธุรกรรมการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลายโดยการออกแนวปฏิบัติ เรื่องแนวทางการเข้าร่วมทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน(Regulatory Sandbox) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาเสนอบริการออกมาภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดและพัฒนาประสิทธิภาพบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค

ตลอดจนต่อยอดบริการพร้อมเพย์ และการขยายการวางเครื่องอีดีซี และการพัฒนานวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่ๆอาทิ การชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดผ่านสมาร์ทโฟน และส่งเสริมให้เกิดบริการการเงินบนเทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังมีเรื่องความปลอดภัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญ

“การเปิดให้บริการซัมซุง เพย์ ถือว่าเข้ามาในจังหวะที่เหมาะสม ช่วงเวลาที่เหมาะสม เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันระดับภูมิภาค และซัมซุง เพย์ จะเป็นจุดเริ่มต้นผลักดันให้ไทยก้าวสู่ยุคสังคมไร้เงินสดในที่สุด”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560